Contact us on +668 4668 1993 or aspasign2020@gmail.com

AI เปลี่ยนโลก!! 2 ยักษ์ไอทีเผยเทรนด์ AI ที่ธุรกิจต้องจับตาในปี 2568

AI เปลี่ยนโลก!! 2 ยักษ์ไอทีเผยเทรนด์ AI ที่ธุรกิจต้องจับตาในปี 2568
January 5, 2025 dhammarong

ส่องเทรนด์ AI ปี 2568 ต้องยกให้เป็นปีทองของ AI ต่อเนื่อง เมื่อ AI ได้รับการพัฒนาก้าวล้ำจนในปี 2567 ที่ผ่านมา มีการนำ AI เข้ามาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของพนักงานและผู้คนทั่วไป

สำหรับในปี 2568 มั่นใจว่าเทรนด์ AI ก็จะยังคงได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้มีความฉลาดและการทำงานที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น สร้างผลกระทบเชิงบวก และนำไปประยุกต์ใช้ในวงกว้างมากขึ้น ทั้งช่วยปลดล็อคการทำงานของพนักงาน สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กร หาแนวทางรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของประเทศไทยและโลก ตลอดจนสร้างหลักการกำกับดูแลการใช้งาน AI ให้มีจริยธรรมและความรับผิดชอบอย่างเป็นรูปธรรม

เผยเทรนด์ AI ที่ธุรกิจต้องจับตาในปี 2568

นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย เผยเทรนด์ AI ที่น่าจับตามองในปี 2568 เพื่อให้องค์กรไทยทั้งภาคธุรกิจ ภาครัฐ และคนไทยได้เตรียมความพร้อมประยุกต์ใช้ AI ในวงกว้างมากยิ่งขึ้น เพื่อช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ สร้างสิ่งใหม่ ๆ ความคิดสร้างสรรค์ และก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงบวกให้กับตนเอง สังคม และประเทศ ดังนี้

1. Scaling Laws: AI จะยกระดับศักยภาพและเติบโตอย่างก้าวกระโดด

ในปี 2568 นี้ AI จะได้รับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดยิ่งกว่าทุกการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ผ่านมา ฉีกกฏการเติบโตจากเดิมที่เติบโตด้วยตัวเองอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามกาลเวลา โดยคาดการณ์ว่าเทรนด์ AI จะเพิ่มขึ้นแบบเป็นทวีคูณในทุก ๆ ครึ่งปี อันเป็นผลมาจากประสิทธิภาพการทำงานของคอมพิวเตอร์ที่ทรงพลังในทุกมิติ และการนำเทคนิคที่เก่งกว่าเดิมมาประยุกต์ใช้กับข้อมูลและอัลกอริทึมของ AI ซึ่งองค์กรที่ได้เริ่มใช้และยังไม่ได้ใช้ AI จึงควรปรับตัวตามเรื่องนี้ให้ทัน

AI ไม่ได้เป็นแค่เทคโนโลยี แต่จะเข้ามาเป็นผู้ช่วยในการใช้ชีวิตและทำงานของทุกคน ภาคองค์กรต้องตระหนักถึงการนำ AI มาใช้เพื่อช่วยปรับปรุงกระบวนการทำงานตลอดจนโมเดลธุรกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งปัจจุบัน มีหลายองค์กรในไทยที่นำ AI มาประยุกต์ใช้ในการลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพงาน และลดระยะเวลาในการทำงานให้กับพนักงานแล้ว

จากรายงานของ IDC ประจำปี 2567 พบว่า 60% ขององค์กรที่ได้สำรวจจากทั่วโลก วางแผนที่จะนำ AI เข้ามามีส่วนร่วมกับภาคธุรกิจอย่างเต็มประสิทธิภาพใน 2 ปีข้างหน้า ซึ่งสูงกว่าในปี 2566 ที่มีสัดส่วนเพียง 46% เท่านั้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่มีความพร้อมมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ การศึกษา สุขภาพ และการเงิน ดังนั้นหากมองภาพรวมในระดับประเทศ องค์กรต่างๆ ในไทยจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับนำ AI มาปรับใช้ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้เท่าทันกับการใช้งาน AI ของประเทศอื่น

ปีนี้ เป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นอีกครั้งของการปฏิวัติทางด้านเทคโนโลยี Gen AI เพิ่งเริ่มต้น จึงเป็นโอกาสของทุกคน ทุกบริษัท และทุกประเทศ มี AI ใช้ได้อย่างเท่าเทียมกัน ในเวลาใกล้ ๆ กัน ด้วยต้นทุนที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น หรือแม้กระทั่งใช้งานได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ดังนั้น ประเทศ องค์กร และคนไทย ควรเปิดรับและก้าวทันเทคโนโลยี AI

ธนวัฒน์-สุธรรมพันธุ์

2. Agentic World: เสริมประสิทธิภาพองค์กร-พนักงาน

AI Agent จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีมงานและกระบวนการทำงาน ช่วยแบ่งเบาภาระการทำงาน Routine Work เพื่อให้พนักงานมีเวลาไปโฟกัสกับการทำงานที่สำคัญกว่า และยังช่วยให้องค์กรจัดสรรทรัพยากรบุคคลได้เกิดประโยชน์สูงสุด

ในอนาคตเราจะเห็นการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์และ AI อย่างแพร่หลาย เราจะได้เห็น AI Agent มาช่วยสนับสนุนพนักงานในการค้นหาข้อมูล เข้าถึงองค์ความรู้ทั้งภายในและนอกองค์กรได้มากขึ้น ตลอดจนการทำงานร่วมกันแบบ Multi AI Agent ที่สำคัญผู้ใช้งานที่ไม่ความรู้ด้านไอที ก็สามารถสร้าง AI Agent ของตนเองได้อย่างง่ายดายและสะดวกรวดเร็ว ผ่านเครื่องมือต่าง ๆ อาทิ Microsoft 365 Copilot และ Microsoft Copilot Studio เป็นต้น

3. Multimodal AI: สรรค์สร้างนวัตกรรม จาก AI รองรับจากสื่อทุกประเภท

ในสภาพการทำงานปัจจุบัน แหล่งข้อมูลที่เราใช้ในการทำงานหรือจัดเก็บไม่ได้มาจากเอกสารหรือข้อความเพียงอย่างเดียว ยังมีข้อมูลในรูปแบบอื่น ๆ เช่น ข้อความ รูปภาพ เสียง

ในอนาคต AI จะสามารถนำข้อมูลที่อยู่ในสื่อหลากหลายประเภทนี้ออกมาใช้งานให้เกิดประโยชน์ และบูรณาการร่วมกันได้ สามารถประมวลผลข้อมูลออกมาได้ครบถ้วนและสอดคล้องในทุกบริบท ก้าวข้ามขีดจำกัดในการป้อนข้อมูล คำสั่ง และแสดงผลลัพธ์ในรูปแบบของข้อความเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ทำให้การสื่อสารกับ AI เป็นธรรมชาติมากยิ่งขึ้น

4. Data Security: หัวใจสำคัญที่จะต้องพัฒนาควบคู่กับการประยุกต์ AI

หนึ่งในเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การรักษาความปลอดภัยของข้อมูล เนื่องจาก AI สามารถเข้าถึงข้อมูลทั้งหมดได้ จึงมีความจำเป็นที่องค์กรจะต้องระมัดระวังอย่างยิ่งในการแบ่งปันข้อมูล หากมีการแชร์ข้อมูลอย่างเกินควรและไม่ได้รับการป้องกัน ข้อมูลที่ไม่ควรเปิดเผยก็อาจถูกมองเห็นได้ เช่น ข้อมูลส่วนตัวของพนักงานและลูกค้า ซึ่งจะต้องเป็นความลับขององค์กร

ในอดีต การแชร์ข้อมูลโดยไม่มีการควบคุมอาจยังไม่เป็นปัญหาใหญ่ เพราะไม่มีเครื่องมือที่สามารถรวบรวมข้อมูลทั้งหมดได้ แต่ในปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้เปลี่ยนไป การรักษาความปลอดภัยข้อมูลจึงเป็นเรื่องที่ทุกองค์กรต้องให้ความสำคัญควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ รวมถึงการกำหนดแนวทางการจัดการข้อมูล (data governance)

5. Responsible AI: จริยธรรม AI ต้องใช้อย่างเป็นธรรม กับทุกฝ่าย

เพื่อให้ AI ถูกนำไปใช้งานอย่างสร้างสรรค์ เป็นธรรม และเกิดประโยชน์กับทุกคนในสังคมอย่างแท้จริง บริษัทผู้พัฒนายักษ์ใหญ่ในหลายประเทศต่างร่วมกันในการหาแนวทางกำกับดูแลการใช้งาน AI โดยไมโครซอฟท์ ได้กำหนดมาตรการใช้งาน AI อย่างมีจริยธรรมและรับผิดชอบต่อสังคม มุ่งเน้นความโปร่งใส ความเป็นธรรม และความปลอดภัย ทั้งยังมีคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่าบริการ AI ใหม่ ๆ ที่สร้างขึ้นจะต้องผ่านเกณฑ์ Responsible AI ก่อนการนำออกมาใช้

จากเทรนด์เทคโนโลยีที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นว่า AI สามารถสร้างฉากทัศน์ใหม่ และเกิดประโยชน์มหาศาลต่อภาคธุรกิจ ดังนั้นผู้บริหารควรกำหนดแนวทางที่ชัดเจนในการใช้ AI ผ่านการวิเคราะห์ภาพรวมการทำงานภายในองค์กร และนำ AI เข้าไปช่วยแก้ไขกระบวนการทำงานที่ล่าช้าหรือขาดประสิทธิภาพเหล่านั้น เปลี่ยน AI เป็นผู้ช่วยทำงานร่วมกับพนักงาน ขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด

AI โอกาสที่ยิ่งใหญ่ในการพลิกโฉมธุรกิจ

ขณะที่เดลล์ เทคโนโลยีส์ เผยการคาดการณ์ปี 2568 และมุมมองในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ชี้ถึงการเติบโตของ Agentic AI และ AI ที่รองรับการเติบโตในองค์กรได้ รวมถึงแนวคิดริเริ่มด้าน Sovereign AI ดังนี้

  • สถาปัตยกรรม Agent AI จะปฏิวัติการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากเครื่องมือที่รอรับคำสั่ง สู่การทำงานแบบอัตโนมัติได้ด้วยตัวเอง
  • องค์กรจะขยายการใช้ AI ในเชิงกลยุทธ์ มุ่งเน้นส่วนที่สร้างผลกระทบได้สูง พร้อมวางรากฐาน AI ให้นำมาใช้งานซ้ำได้
  • แนวคิดริเริ่มของ อธิปไตยปัญญาประดิษฐ์ หรือ Sovereign AI เร่งให้มีการใช้ AI ในทั่วโลก สร้างศักยภาพให้ประเทศต่างๆ ได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลและระบบโครงสร้างพื้นฐานของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • การผสาน AI เข้ากับเทคโนโลยีเกิดใหม่ เช่น ควอนตัม คอมพิวติ้ง (quantum computing) อินเทลลิเจนท์ เอดจ์ (intelligent edge) และการรักษาความปลอดภัยแบบซีโร่ ทรัสต์ (Zero Trust) จะปลดล็อกนวัตกรรมได้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
  • ความเชี่ยวชาญด้าน AI จะกลายเป็นทักษะที่จำเป็น ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงานและต้องมีการพัฒนาคนทำงาน

จอห์น โรส ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีระดับโลก และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่าย AI ของเดลล์ เทคโนโลยีส์ กล่าวว่า Agentic AI คือการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในการโต้ตอบระหว่างมนุษย์กับ AI

Agentic จะเป็นคำแห่งปี 2025 โดยเป็นความก้าวหน้าในการกำหนดทิศทางของเทคโนโลยี AI และจะเป็นตัวเร่งให้เกิดความก้าวหน้าที่สำคัญต่อแนวทางการออกแบบสถาปัตยกรรม AI

การพัฒนาของ Generative AI ทำให้เกิดเอเจนต์ AI อัจฉริยะที่สามารถทำงานซับซ้อนได้แบบอัตโนมัติ สื่อสารด้วยภาษาธรรมชาติ และทำงานร่วมกับมนุษย์และเอเจนต์ AI อื่นๆ ได้อย่างราบรื่น โดยเอเจนต์ AI ที่มีความชำนาญเฉพาะทางเหล่านี้จะมีทักษะการทำงานที่หลากหลาย ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมและปฏิวัติกระบวนการทำงาน

จอห์น โรส

กลยุทธ์ความสำเร็จของการขยาย AI ในองค์กร

ปัจจุบัน องค์กรต่าง ๆ กำลังให้ความสำคัญกับผลตอบแทนจากการลงทุนที่จับต้องได้และมูลค่าทางธุรกิจจากโครงการความริเริ่มด้าน AI มากขึ้น มีการจัดตั้งคณะกรรมการด้าน AI โดยเฉพาะที่นำโดยประธานเจ้าหน้าที่ด้าน AI หรือประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายสารสนเทศ (CIO) แนวทางที่เน้นการปฏิบัติได้จริงนี้สะท้อนให้เห็นอัตราความสำเร็จที่เพิ่มขึ้นของโครงการนำร่อง GenAI

การขยายการใช้ AI ให้ประสบความสำเร็จ คือ องค์กรธุรกิจต้องจัดลำดับความสำคัญของกระบวนการทำงานที่สร้างผลกระทบมากที่สุดและวางรากฐาน AI เพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำอีกทั้งขยายขอบเขตการทำงานได้

ทั้งนี้ องค์กรต่างๆ กำลังใช้ประโยชน์จาก AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพความปลอดภัยทางไซเบอร์ ปรับปรุงบริการคลาวด์ให้เหมาะสม ปรับการเรียนรู้แบบเฉพาะบุคคล และปฏิรูปการผลิตภาพยนตร์

นอกจากนี้ ยังพบว่า หลายประเทศมีความพยายามมากขึ้นในการพัฒนา Sovereign AI หรือปัญญาประดิษฐ์แบบพึ่งพาตนเอง เพื่อสร้างระบบนิเวศ AI ในท้องถิ่นที่สอดคล้องกับวัฒนธรรม ภาษา และความต้องการด้านความปลอดภัยของข้อมูล

แนวคิดดังกล่าว มุ่งเน้นที่ความสามารถของประเทศในการสร้างคุณค่าและความแตกต่างด้าน AI โดยใช้โครงสร้างพื้นฐานและข้อมูลของตนเอง มาช่วยส่งเสริมระบบนิเวศที่สะท้อนถึงทรัพย์สินทางปัญญาของท้องถิ่นและการให้ความสำคัญ

เทรนด์ AI ที่กำลังพลิกโฉมคนทำงาน

วิสัยทัศน์ของจอห์น โรส เกี่ยวกับอนาคตของการทำงานเน้นย้ำถึงผลกระทบที่เปลี่ยนแปลงของ AI ต่อตลาดแรงงาน ซึ่งต้องการให้องค์กรลงทุนในการพัฒนาความเชี่ยวชาญด้าน AI ของบุคลากร เมื่อเอเจนต์ AI สามารถจัดการกับงานประจำได้มากขึ้น บทบาทของมนุษย์จะพัฒนาไปสู่การคิดเชิงกลยุทธ์ในระดับที่สูงขึ้น รวมถึงการแก้ปัญหาในเชิงสร้างสรรค์ และการตัดสินใจที่ซับซ้อน

AI กำลังสร้างงานใหม่ในระดับสูง และเป็นตัวเร่งที่ทำให้เกิดการลงทุนครั้งใหญ่ในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งส่งผลกระทบเชิงบวกอย่างมหาศาลต่อการสร้างงาน เรารู้ว่าจะมีงานพื้นฐานที่ AI สามารถทำได้ง่ายและทำซ้ำได้ อย่างไรก็ตาม ส่วนที่น่าตื่นเต้นคือมีการสร้างงานใหม่ ๆ เกิดขึ้นทุกที่ ตั้งแต่นักพัฒนาซอฟต์แวร์ นักแปลที่เป็น AI และวิศวกรระบบความร้อน เป็นต้น

เมื่อมองไปข้างหน้า ความร่วมมือที่แข็งแกร่งระหว่างมนุษย์กับ AI และระหว่างมนุษย์กับมนุษย์จะเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนอนาคตดิจิทัลร่วมกัน

 

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : today.line.me