Contact us on +668 4668 1993 or aspasign2020@gmail.com

พรินเตอร์ไทย ปีหน้ามีลุ้น!? (Cyber Weekend)

พรินเตอร์ไทย ปีหน้ามีลุ้น!? (Cyber Weekend)
August 23, 2020 dhammarong

ผ่าอาการโคม่าตลาดพรินเตอร์ไทยอ่วมพิษวิกฤตเศรษฐกิจตามเทรนด์โลก การท่องเที่ยวที่หงอยเหงาและการส่งออกที่ยังทำไม่ได้มีผลให้บางธุรกิจในไทยเกิดภาวะ “ไม่รู้จะผลิตอะไร” จนตลาดสินค้ากลุ่มเครื่องพิมพ์ในสายการผลิตน้อยใหญ่ซบเซาเพราะไม่มีดีมานด์หรือความต้องการซื้อที่เพิ่มขึ้น กลายเป็นสัญญาณที่ชี้ว่าการแข่งขันในตลาดพรินเตอร์ไทยปีนี้จะไม่ดุเดือดเหมือนปีอื่นที่ตลาดมีความต้องการคึกคักมากกว่านี้ โดยผู้เล่นในตลาดยังรอและจับตาดูใกล้ชิด พร้อมกับมองหาทางหนีไปยังพื้นที่ที่มีโอกาสอยู่

“เอปสัน” แบรนด์ยักษ์ใหญ่ในตลาดพรินเตอร์ยอมรับว่าวันนี้บริษัทส่งทีมไปประกบเฉพาะ “พื้นที่ที่มีดีมานด์” ทีมเซลของเอปสันวันนี้ไม่ได้อยู่ที่ออฟฟิศ แต่บุกไปเจาะพื้นที่ที่มีโอกาสรออยู่

พื้นที่ที่เอปสันเห็นนั้นน่าสนใจมาก โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องพิมพ์อุตสาหกรรมที่ผู้บริหารเอปสันเล่าว่า เติบโตดีในธุรกิจ “โฟโต้แล็ป” ทั้ง 77 จังหวัดทั่วไทย ซึ่งไม่เพียงการพิมพ์รูปจากงานรื่นเริง ป้ายโฆษณา สินค้าพรีเมียม หรือรูปติดบัตร แต่ร้านโฟโต้แล็ปเหล่านี้มีรายได้ต่อเนื่องจากบริการพิมพ์ “รูปหน้าศพ” ซึ่งยังมีความต้องการและไม่ถูกดิสรัปไปเหมือนบางธุรกิจ

ยังมีการผ่าไปแข่งในสังเวียนหุ่นยนต์ ซึ่งแบรนด์เยอรมนีและเจ้าพ่ออุตสาหกรรมหนักในญี่ปุ่นครองตลาดอยู่แล้ว ประเด็นนี้ผู้บริหารเอปสันเล่าว่า จากที่เอปสันผลิตหุ่นยนต์ประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นใช้งานเองมานาน คุณภาพของหุ่นทำให้มีความต้องการสั่งซื้อจนทำให้เอปสันตัดสินใจเปิดจำหน่ายหุ่นยนต์อย่างจริงจัง ล่าสุด ได้ลูกค้าในธุรกิจผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์รายใหญ่ของไทยไปครองเรียบร้อย ซึ่งเมื่อ 5G มา ก็อาจเป็นปัจจัยผลักดันธุรกิจโรบ็อทสำหรับอุตสาหกรรมของเอปสันได้อีก

สำหรับธุรกิจพรินเตอร์ที่ยังหืดจับ เอปสันยอมรับว่าโครงการเช่าเครื่องแล้วเหมาจ่ายเป็นรายแผ่นหรือรายเดือนนั้นได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 โดยตรง และขณะนี้กำลัง “ดีขึ้นเรื่อยๆ” บนไลน์สินค้าที่ขยายต่อเนื่อง เชื่อว่ารายได้ส่วนอื่นจะมาทดแทนจนทำให้ภาพรวมธุรกิจเอปสันไปได้ดี ในวันที่เอปสันมียอดขายส่วนใหญ่มาจากพรินเตอร์อิงค์แท็งก์ (เกือบ 50%) รองลงมาคือโปรเจกเตอร์ (15%) และเครื่องพิมพ์อุตสาหกรรม (12%)

***ซบอก B2B

นายยรรยง มุนีมงคลทร ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปีนี้บริษัทจะยังเดินตามแผนระยะยาว 5 ปีเรื่องการเพิ่มรายได้จากการจำหน่ายสินค้าให้ภาคธุรกิจหรือองค์กร (B2B) ให้ครอบคลุม 50% ของรายได้รวม จากที่ปัจจุบันเอปสันมีรายได้จากตลาดผู้บริโภคทั่วไปหรือคอนซูเมอร์ (B2C) ถึง 75% และ B2B อีก 25% เชื่อว่าปีนี้บริษัทจะปรับมาเป็น 70% และ 30% ก่อนจะขึ้นเป็น 50% และ 50% ในปี 2025

เหตุผลที่เอปสันเน้นซบอกธุรกิจ B2B คือความมั่นคง ตลาดไอทีสำหรับองค์กรนั้นขึ้นลงไม่แรงเท่าตลาดไอทีคอนซูเมอร์ ขณะเดียวกัน เอปสันก็สามารถทำเงินจากสินค้ากลุ่มซัปพลาย เช่น หมึกพิมพ์หรืออุปกรณ์เสริมได้ต่อเนื่อง ซึ่งแม้จะเป็นตลาดที่ราคาตกต่ำลงต่อเนื่องตั้งแต่ 2006 ก่อนจะลดฮวบรุนแรงในปี 2012 ก็ถือว่ายังมีการเติบโตได้อยู่

ภาวะตลาดพรินเตอร์คอนซูเมอร์ตกต่ำฮวบฮาบอย่างเห็นได้ชัดจากการสำรวจของบริษัทวิจัย GFK พบว่า ตลาดรวมเครื่องพิมพ์หรือพรินเตอร์ในช่วงมกราคม-มิถุนายน 63 มียอดขายลดลง 20% ส่วนที่ลดฮวบที่สุดคือยอดขายหน้าร้านค้าออฟไลน์ที่ลดลง 40% ขณะที่ยอดขายออนไลน์เพิ่มขึ้น 22%

สำหรับไทย ยรรยง มองว่าตลาดพรินเตอร์ไทยปีนี้จะหดตัว 10% ผลจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ยืดเยื้อ ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก วิกฤตการเมืองในหลายประเทศ และสถานการณ์โควิด-19 ที่อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทยมากกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งเสียอีก

ทั้งหมดนี้สวนทางกับตลาดเครื่องพิมพ์ฉลาก เครื่องพิมพ์หน้ากว้าง แขนกลและหุ่นยนต์ ซึ่งล้วนเป็น S Curve ที่ทำการเจริญเติบโตสวยงามให้เอปสันตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3-4 ปีที่แล้ว เนื่องจากองค์กรหลายแห่งมีความต้องการสินค้าไอที เพื่อให้ธุรกิจเจริญเติบโตได้ในยุคดิจิทัล

ยรรยง บอกว่า สินค้าที่เอปสันมั่นใจและเข้าไปขายในปีนี้ คือ สินค้าเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม อาจไม่เห็นที่หน้าร้าน แต่เอปสันทำตลาดอย่างจริงจังมาก ยังมีกลุ่มโฟโต้แล็ปที่ส่วนใหญ่ติดตั้งเครื่องพิมพ์ดิจิทัลของเอปสัน ร้านโฟโต้แล็ปซึ่งใช้เครื่องแอนะล็อกหรือยังใช้น้ำยาล้างรูปเชื่อว่าหมดไปแล้ว ปัจจุบันนี้ตลาดมีเกินพันเครื่องและมีการซื้ออุปกรณ์เสริมตลอด

ตลาดหลักที่เอปสันจะไปยังมีกลุ่มบริษัทก่อสร้างและโรงงานพิมพ์ผ้าขนาดใหญ่ (ติดตั้งแล้ว 2 ตัว) ส่วนตลาดเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ท จะเน้นทำตลาดที่หน่วยงานการศึกษามากกว่าเดิม เพิ่มจากที่ทำยอดขายดีแล้วในธุรกิจประกันภัย ธนาคาร ห้างสรรพสินค้า และบริษัทขนส่ง

ยรรยง ยอมรับว่า ไม่แน่ธุรกิจกลุ่มนี้อาจเป็นฐานสำคัญให้เอปสันผันตัวสู่บริการ printer as a service ได้เต็มตัว บริการดังกล่าวจะทำให้เอปสันไม่เน้นจำหน่ายเครื่องพิมพ์เท่านั้น แต่จะโฟกัสทุกส่วนงานบริการรอบด้านทั้งการสอน การสนับสนุน การซ่อมบำรุง และอีกหลายโมเดลเพื่อเก็บค่าบริการแบบสมัครสมาชิก โดยบริการนี้เริ่มชิมลางที่ธุรกิจอิงค์เจ็ทตัวเล็กแล้ว 2 แคมเปญภายใต้ชื่ออีซีแคร์ (Easy Care) แต่ก็ยังไม่ขยายตัวเพราะโควิด-19 มา

***ฟื้นแน่ไตรมาสนี้

ยรรยง เปิดใจว่า ยอดขายของบริษัทช่วงเมษายน 63 นั้นติดลบหนักที่สุด เพราะทุกอย่างปิดบริการ ร้านค้าจึงระวังเรื่องการสั่งของ เรียกว่าไม่จำเป็นก็ไม่สั่งซื้อ แต่ตอนนี้สถานการณ์เริ่มกลับมาดีขึ้น เชื่อว่าไตรมาสนี้จะฟื้นเพราะยอดขายกรกฎาคมนั้นดีกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก ซึ่งหากทุกอย่างยังสดใสและไปต่อ ก็จะดีกับภาพรวมตลาดที่ยังมีหลายปัจจัยคาบเกี่ยวอยู่

“การเรียนที่บ้าน และความนิยมในการซื้อของออนไลน์ ทำให้ดีมานด์พรินเตอร์กลับมาก็จริง แต่ก็ยังไม่เท่าเดิม แต่ที่ไม่ดีเลยคือโปรเจกเตอร์ ซึ่งตอนนี้เริ่มกลับมาแล้ว ปัจจัยบวกคือการอั้นซื้อมานาน และผู้คนยังต้องการใช้งาน”

หนึ่งในภารกิจของเอปสันปีนี้คือการปักหลักในตลาดออนไลน์ ทั้งด้านอีคอมเมิร์ซที่เอปสันปูพรมให้มีบริการทั้งในช็อปปี้ ลาซาด้า และอีกหลายค่ายเพื่อเติมเต็มยอดขายที่หายไปจากร้านค้าที่ปิดชั่วคราว ประเด็นนี้เอปสันย้ำว่าไม่ได้ให้ออนไลน์มาแย่งช่องทางที่มี เพราะบริษัทยังมีกิจกรรมออฟไลน์อยู่ต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีการสื่อสารกับลูกค้าบนออนไลน์ จากที่มีบนโซเชียล ก็เพิ่มทางไลน์ออฟฟิศเชียลแอ็กเคานต์ จนได้รับคำถามมากมาย ยังมีการอบรมคู่ค้าผ่านออนไลน์ ซึ่งทำให้เอปสันเพิ่มการมีส่วนร่วมกับแบรนด์ได้ต่อเนื่อง

“เด็กโปรโมเตอร์เราก็ไม่ได้ให้ออก แต่โยกไปช่วยออนไลน์ เทเลเซลล์” ยรรยง ระบุ “ผมวางแผนถึงกรณีที่แย่ที่สุดเหมือนกัน คือเรื่องค่าใช้จ่ายและกระแสเงินสดของบริษัท ผมมีแผนรับรองทุกเดือน และกิจกรรมการตลาดก็ยังหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราต้องลงทุน แม้ยอดขายจะดีกว่าที่คาดไว้แต่ก็ไม่ผลีผลามลงทุน เราเลื่อนการลงทุนปรับปรุงโชว์รูมออกไป แต่ยังไม่ยกเลิกเลย 100%”

***ตำแหน่งใหม่ช่วงโควิด-19

ยรรยง มุนีมงคลทร เพิ่งได้รับการแต่งตั้งจากเอปสัน สิงคโปร์ สำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของไซโก้ เอปสัน คอร์ปอเรชั่น ให้เป็น “ผู้อำนวยการบริหาร” ชาวไทยคนแรกของสำนักงานสาขาในภูมิภาคนี้ และคนแรกในรอบ 30 ปี ของบริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา

ตำแหน่งใหม่ทำให้ยรรยงต้องดูแลแผนธุรกิจเอปสันทั้งระยะสั้น กลาง และยาว ยรรยงยอมรับว่าเป็นงานที่มีความคาดหวังสูงและท้าทายมาก โดยยรรยงถือเป็นพนักงานที่อยู่โยงทำงานกับเอปสันมากว่า 28 ปี

“เราเป็นทีมไทยที่สามารถบริหารงานในภูมิภาคนี้ ทุกประเทศเป็นชาวญี่ปุ่น แต่เอปสันประเทศไทยใช้คนท้องถิ่น เมื่อได้รับความไว้วางใจก็กดดัน ต้องวางแผนเพื่อให้บริษัทเติบโตอย่างแข็งแรงมั่นคง” ยรรยง กล่าว “อย่างน้อยปีนี้ ผมก็บอกทางสิงคโปร์ว่ายอดขายจะไม่ต่ำกว่าปีที่แล้ว เพราะจะยากต่อการจัดการค่าใช้จ่าย สินทรัพย์ของเราเป็นบุคลากร ผมมองทุกมิติทั้งเรื่องความผูกพันของพนักงานกับองค์กร จนถึงการจัดการด้านการเงิน”

ยรรยง ย้ำว่า เอปสันประเทศไทยได้รับรางวัลดีเด่นหลายด้านช่วงปีที่ผ่านมา และถูกจัดอันดับให้อยู่ในช่วง 3-4 เพราะการเติบโตที่ไม่ร้อนแรงเท่าฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียที่ตลาดกำลังโตสุดขีดเหมือนประเทศไทยช่วง 10 ปีที่แล้ว

“ปีนี้ไม่ใช่ปีที่เหนื่อยที่สุด เพราะทุกปีเหนื่อยคนละแบบ ผมมองเป็นความท้าทาย ปีนี้เราค้นพบวิธีใหม่ในการทำงาน เช่น การประชุมผ่านซูม หรือการทำออนไลน์มาร์เกตติ้ง แต่เราคงไม่ขอบคุณโควิด-19 เพราะได้รับผลกระทบเหมือนกัน แม้จะต้องยอมรับว่าบางอย่าง ถ้าไม่มีโควิด-19 ก็ไม่เกิดขึ้น”

ที่เหลือก็ต้องรอลุ้นว่าปีหน้าตลาดพรินเตอร์ไทยจะกลับมาแข่งกันโหดได้อีกครั้งหรือเปล่า?

 

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : mgronline.com