Contact us on +668 4668 1993 or aspasign2020@gmail.com

จะเกิดอะไรขึ้นหลัง VGI ซื้อ PLANB

จะเกิดอะไรขึ้นหลัง VGI ซื้อ PLANB
April 7, 2019 dhammarong

ดีลล่าสุดที่สร้างความฮือฮาในตลาดทุน เมื่อบริษัท วี จี ไอ โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ VGI ทุ่มเงินประมาณ 4,600 ล้านบาท ปิดดีลเข้าซื้อหุ้นบริษัท แพลน บี มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ PLANB ในสัดส่วน 18.59% ขึ้นแท่นผู้ถือหุ้นเบอร์ 2 ทันที เป็นรองผู้ถือหุ้นเบอร์ 1 คือ “ปรินทร์ โลจนะโกสินทร์” สัดส่วน 28.45%

แน่นอนว่า หากเปรียบเทียบลักษณะการทำธุรกิจของทั้ง VGI กับ PLANB เล่นอยู่ในตลาดสื่อโฆษณาที่เป็นคู่แข่งกันโดยตรง VGI ซึ่งรายได้น่าจะมากกว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี เป็นผู้เล่นอันดับ  1 กับ PLANB ที่มีรายได้ประมาณ 4,000 ล้านบาทต่อปี ผู้เล่นอันดับ 2 ในตลาดสื่อโฆษณานอกบ้าน (Out of Home Media:OHM)

แต่เมื่อรวมกับการที่ VGI เข้าถือหุ้นรวมกับบริษัทแม่คือ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ขึ้นแท่นเป็นผู้ถือหุ้นเบอร์หนึ่ง ในบริษัท มาสเตอร์ แอด จำกัด (มหาชน) หรือ MACO สัดส่วน 49.74% ที่มีรายได้อีก 1,745 ล้านบาทต่อปี ยิ่งเป็นตอกย้ำความเป็นเจ้าตลาด OHM ของ VGI

ดังนั้นเมื่อรวมรายได้ของทั้ง VGI, MACO และ PLANB จะมีรายได้มากกว่า  10,000 ล้านบาทต่อปี เทียบเท่าใกล้เคียงกับสื่อทีวีดิจิทัลเจ้าใหญ่เรทติ้งดีอย่างบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BEC 

ความเหมือนที่แตกต่าง!

แต่สิ่งที่ต่างกันสิ้นเชิงคือ ทั้ง VGI, MACO และ PLANB มีกำไรสุทธิรวมกันในปี 2561 รวมกันมากถึง 1,765 ล้านบาท เฉพาะ PLANB เจ้าเดียวมีอัตราการเติบโตกำไรเฉลี่ย (CAGR) ช่วงปี 2559-2561 โตเฉลี่ยถึง 35% ต่อปี

ขณะที่ VGI มีกำไรสุทธิเติบโตขึ้นดีตลอดในช่วง 2-3 ปี งบปี 60 (สุดสิ้น มี.ค.60) มีกำไรสุทธิ 826.42 ล้านบาท งบปี 61 (สุดสิ้น มี.ค.61) มีกำไรสุทธิ  846.23 ล้านบาท  ส่วนช่วง 3 ไตรมาสแรกของงบปี 62(สิ้นสุด  ธ.ค.61) มีกำไรสุทธิถึง 830.89 ล้านบาท

ส่วน MACO เองทำได้ไม่แพ้บริษัทแม่ กำไรในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเติบโตมาโดยตลอดปี 59 มีกำไรสุทธิ 102 ล้านบาท  ปี 60 มีกำไรสุทธิ 220.86 ล้านบาท และปี 61 มีกำไรสุทธิ  272.62 ล้านบาท

แต่ BEC กลับพลิกขาดทุนในปี 2561 ที่ 330 ล้านบาท ขณะที่ผลประกอบการปี 58-60 มีกำไรสุทธิเป็นขาลงมาโดยตลอด ปี 58 อยู่ที่ 2,982.71 ล้านบาท ปี 59 อยู่ที่ 1,218.29  ล้านบาท ปี 61 อยู่ที่ 61.01 ล้านบาท จากผลตลาดทีวีดิจิทัลที่กำลังอยู่ในช่วงกำลังเผชิญภาวะการแข่งขันที่รุนแรง แต่ผู้เล่นในตลาดสื่อ OHM กลับได้รับเม็ดเงินโฆษณาไหลมาเทมา ด้วยอานิสงส์ของเทรนด์คนรุ่นใหม่ที่นิยมใช้ชีวิตอยู่นอกบ้านเพิ่มขึ้น ทำการอัดงบโฆษณาใส่กับสื่อ OHM ทำได้ตรงเป้าหมายมากกว่าทั้งสื่อแบบออนไลน์และออฟไลน์

แน่นอนว่าความร่วมมือที่แนบชิดมากขึ้นระหว่าง VGI, MACO กับ PLANB ซึ่งพร้อมจะจับมือกันโตแบบไม่หยุด ส่วนผลลัพธ์อย่างแรกที่ต้องเกิดขึ้นคือ การ “พลิกเกมส์เปลี่ยนอำนาจต่อรอง” เปลี่ยนมาอยู่ในมือเจ้าตลาดสื่อ OHM ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และเป็นเจ้าใหญ่สุดในตลาดสื่อ OHM ซึ่งปัจจุบันถือว่าเป็นสื่อที่มีอิทธิพลมากขึ้นต่อการตัดสินใจซื้อของประชาชนสะท้อนจากเม็ดเงินโฆษณาที่เอเจนซี่ต่างๆ เทงบมาที่ OHM มาอยู่ที่รายได้ของ VGI, MACO, PLANB เพราะมี Eyeball ที่มีมากกว่าอย่างชัดเจนสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของคนยุคปัจจุบันที่ใช้เวลาอยู่นอกบ้านมากกว่าในบ้าน และยังใช้เวลาอยู่โทรศัพท์มือถือ กับ แท็บเล็ต มากกว่าอยู่หน้าจอทีวี

เปลี่ยนจากเดิมในอดีตที่ผ่านมาเอเจนซี่โฆษณาเจ้าต่างๆ มักจะนำราคาที่ได้จากอีกรายไปต่อรองกับสื่ออีกรายเพื่อขอลดราคา  แต่หลังจากดีลนี้ที่ปิดไปแล้วเมื่อวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา เจ้าของพื้นที่สื่อ OHM จะเป็นผู้คุมเกมส์ความได้เปรียบ

ทำให้เหล่าเอเจนซี่ ต้องเข้าคุยกับเจ้าของพื้นที่ซึ่งกระชับความสัมพันธ์เปรียบเสมือนเป็นรายเดียวกันที่ครองพื้นที่ทั้งในบริเวณสถานีและขบวนรถไฟฟ้า, สนามบิน, ทางด่วน, รถสาธารณะ ขสมก., ศูนย์การค้า, อาคารสำนักงานยอดนิยม, ในร้านจิฟฟี่ ของ ปตท. ป้ายบิลบอร์ดตามจุดสำคัญต่างๆ ทั่วประเทศ ที่ทั้ง 3 เจ้าไปยึดหัวหาดสัมปทาน Eyeball ทำเลทองไว้เกือบหมดแล้ว

เพื่อทำความร่วมมือจัดสรรในการขายสื่อในกลุ่ม ยังไม่นับรวมโอกาสที่ BTS ที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการเข้าไปบริหารหรือร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ อีกหลายโครงการซึ่งแน่นอนว่าสิทธิ์ในการบริหารดูแลสื่อที่ต้องพ่วงติดมาด้วยคงหนีไม่พ้นที่ VGI ในฐานะบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญที่ต้องเข้าไปรันธุรกิจ OHM ให้เกิดความต่อเนื่อง

Synergy ของเจ้าตลาด OHM

คงจะได้เห็น Synergy ของเจ้าตลาด OHM ที่จะมาร่วมกันแชร์ต้นทุนการทำธุรกิจหรือต้นทุนทางการเงิน, บุคลลากร เสริมศักยภาพซึ่งกันและกันทำให้การบริหารต้นทุนโดยรวมมีประสิทธิภาพดีขึ้น รวมถึงร่วมกันขยายตลาดสื่อ OHM ในภูมิภาคอาเซียนอย่างในมาเลเซียที่เริ่มขยับเข้าไปแล้ว

อีกประเด็นที่ต้องติดตามคือ หลัง VGI เข้าไปถือหุ้นใน PLANB 18.59%  แล้วจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องกระชับความสัมพันธ์ เช่นเดียวกับ เมื่อปี 2557-2559 ได้เริ่มทยอยซื้อหุ้น  MACO ถือเป็นคู่แข่งรุ่นพี่รายใหญ่ใน SET ในตอนนั้น  จนปัจจุบัน VGI กับแม่คือ BTS ขึ้นแท่นเป็นผู้ถือหุ้นเบอร์หนึ่งใน MACO สัดส่วน 49.74%  MACO ครองพื้นที่ OHF ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญหลายจุดทั้งในไทย และอาเซียนในมาเลเซีย

หากสังเกตุกลยุทธ์สำคัญธุรกิจหนึ่งของ VGI ที่ใช้สร้างการเติบโตใน ตั้งแต่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(SET)ในปี 2555 คือการเปลี่ยนคู่แข่งทางธุรกิจให้กลายเป็นพันธมิตรทางธุรกิจในหลายธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อ งและต่อยอดกับธุรกิจปัจจุบัน ซึ่งในหลายดีลไม่จำเป็นจะต้องเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่จะเข้าไปเพื่อรับรู้ส่วนแบ่งเงินปันผลอย่างเช่น กรณี การถือหุ้น PLANB ซึ่งถือไม่ถึงสัดส่วน 20%  หรืออย่างการเข้าไปถือหุ้น Kerry Express สัดส่วน 23% ซึ่งมีโอกาสที่จะบันทึกกำไรตามสัดส่วนการถือหุ้นซึ่งอยู่ในธุรกิจโลจิสติกส์ที่กำลังเติบโตสูง

 

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : wealthythai.com