Contact us on +668 4668 1993 or aspasign2020@gmail.com

กทม.สั่งจัดการป้ายโฆษณาอันตราย-ต้นไม้ใหญ่เสี่ยงล้ม รับมือพายุฤดูร้อน

กทม.สั่งจัดการป้ายโฆษณาอันตราย-ต้นไม้ใหญ่เสี่ยงล้ม รับมือพายุฤดูร้อน
March 4, 2018 dhammarong

นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ด้วยสภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีความแปรปรวนอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งในเดือนมีนาคม ก็จะเข้าสู่ฤดูกาลที่เสี่ยงต่อพายุฤดูร้อน กรุงเทพมหานครจึงเร่งตรวจสอบ ป้องกันความเสี่ยงต่ออันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน โดยดูแลป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ และต้นไม้ต่างๆ ในพื้นที่ เนื่องจากหากมีลมพายุพัดรุนแรง หรือป้าย ต้นไม้ไม่มีความมั่นคงแข็งแรง อาจล้มทับสร้างอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้

จากการสำรวจเบื้องต้น ต้นไม้ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่เป็นไม้ยืนต้น มีจำนวนรวม 3,225,274 ต้น กระจายอยู่ในพื้นที่ทางเท้า สวนสาธารณะต่างๆ ทั่วพื้นที่ โดยตนได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำรวจต้นไม้ หากพบความไม่มั่นคงแข็งแรง เสี่ยงต่อการโค่นล้ม จะต้องดำเนินการตามขั้นตอน คือ ตัดทอนความสูง ค้ำยัน ศัลยกรรมต้นไม้ ล้อมย้ายและปลูกทดแทน ซึ่งขณะนี้มีต้นไม้ที่ต้องเร่งทำการค้ำยันและศัลยกรรมรวม 762ต้น ต้นไม้ที่ต้องล้อมย้ายและปลูกทดแทน 637 ต้น และต้นไม้ที่ต้องตัดทอนความสูง 1590 ต้น โดยต้นไม้ทั้งหมดต้องดูแลตามรูปแบบที่เหมาะสมให้เสร็จสมบูรณ์ภายในเดือนเมษายนนี้ ก่อนที่จะเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ

นอกจากนี้ ป้ายโฆษณา ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องเร่งสำรวจดูแลความปลอดภัยมั่นคงแข็งแรง ซึ่งป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ตามกฎหมาย กำหนดให้ต้องมีการตรวจสอบความแข็งแรงเป็นประจำทุกปี โดยจากการสำรวจป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีจำนวนรวม 1,079 ป้าย เป็นป้ายโฆษณาที่ถูกต้องตามกฎหมาย 835 ป้าย แบ่งเป็นป้ายบนดิน 580 ป้าย และป้ายบนอาคาร 255 ป้าย โดยสำนักงานเขตที่มีป้ายโฆษณาจำนวนมากที่สุดคือเขตราชเทวี จำนวน 95 ป้าย ป้ายโฆษณาถูกกฎหมาย ได้รับอนุญาตติดตั้งถูกต้อง จะต้องตรวจสอบความปลอดภัยเป็นประจำทุกปี

ส่วนป้ายโฆษณาผิดกฎหมาย มีการก่อสร้างผิดแบบ หรือก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาต มีจำนวน 244 ป้าย แบ่งเป็นป้ายบนดิน 119 ป้าย และป้ายบนอาคาร 125 ป้าย ซึ่งเขตที่มีการลักลอบก่อสร้างป้ายผิดกฎหมายมากที่สุด คือเขตลาดกระบัง จำนวน 34 ป้าย โดยป้ายโฆษณาผิดกฎหมาย ตนได้สั่งการให้สำนักงานเขตต่างๆ เร่งสำรวจและจัดการให้ถูกต้อง ซึ่งป้ายผิดกฎหมาย จะต้องมีการฟ้องร้องเอาผิดตามกฎหมาย โดยอยู่ระหว่างขั้นตอนบังคับให้หรือถอนจำนวน 48 ป้าย และอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล และอยู่ในขั้นตอนเอาผิดทางกฎหมายรวม 196 ป้าย โดยจะเร่งการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรง และรื้อถอนป้ายผิดกฎหมายอย่างเร็วที่สุดต่อไป

 

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : mgronline.com