Contact us on +668 4668 1993 or aspasign2020@gmail.com

จุฬา เผย 5 กลยุทธ์ปรับกระบวนธุรกิจให้ ‘รอด-รุ่ง’ ในยุค Digitalization

จุฬา เผย 5 กลยุทธ์ปรับกระบวนธุรกิจให้ ‘รอด-รุ่ง’ ในยุค Digitalization
July 10, 2017 dhammarong

01

นักการตลาดต้องก้าวนำผู้บริโภคเสมอ โดยเฉพาะในยุค Digitalization  ที่ผู้บริโภคกลายเป็นผู้บริโภคยุค 4.0  นักการตลาดก็ต้องเป็น 4.0 Plus หรือ 5.0 เพื่อยังคงความสามารถในการเข้าใจและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ จากมุมมองของ ผศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร หัวหน้าภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  กล่าวไว้ในเวทีวิเคราะห์ทิศทางธุรกิจไทยยุค New Normal  พร้อมงานเสวนา ฟันธงธุรกิจไทยครึ่งหลังปี 2560” โดยคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

02

ผศ.ดร.วิเลิศ  ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การทำตลาดยุคปัจจุบันต้องให้ความสำคัญและนำเครื่องมือด้านดิจิตอลมาใช้ให้เป็นประโยชน์มากกว่าการนำมาเป็นเพียงแค่เครื่องมือสำหรับสื่อสารการตลาด  แต่ต้องมองดิจิตอลในมิติของการเป็น Core Business เป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะเชื่อมโยงธุรกิจจากโลกออนไลน์และออฟไลน์เข้ามาไว้ด้วยกันได้ และยังเป็นแพลตฟอร์มในการสร้างให้แบรนด์เติบโตไปสู่ระดับโลก ในฐานะ Global Digital Branding   ผ่าน  5 แนวทาง ต่อไปนี้

1. การยกระดับจาก Internet of Things สู่ Internet of Lives เมื่อดิจิตอลไม่ได้ทำหน้าที่แค่เชื่อมโยงสิ่งของต่างๆ เข้าหากัน  แต่จะเป็นการเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตและไลฟ์สไตล์ของผู้คนได้แบบแนบชิดยิ่งขึ้น  ด้วยการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในทุกๆ กิจกรรมของผู้คน ที่มากกว่าแค่เรื่องของงานหรือธุรกิจ แต่เป็นเรื่องของการใช้ชีวิตอีกด้วย

2. การใช้ดิจิตอลในการสร้างความผูกพันกับผู้บริโภคในระดับที่ลงลึกมากขึ้น จากการเป็นเพียง Digital Consumer หรือผู้ใช้ ธรรมดา มาสู่การเป็นผู้บอกต่อ (Digital Advocate)  จนสุดท้ายเกิดความผูกพันจนอยากเป็นผู้คอยดูแล แชร์ และปกป้องแบรนด์ต่างๆ เหล่านั้น  (Digital Evangelists)

3. ลบเส้นแบ่งของ Online กับ Offline เหลือแค่ Lifeline การเติบโตของดิจิตอล ทำให้การทำธุรกิจต่อจากนี้ ไม่สามารถแยกแพลตฟอร์มของออนไลน์ หรือออฟไลน์ออกจากกันได้  เพราะทุกอย่างคือ Journey ของลูกค้า เป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการนำไปคิดวิเคราะห์ และวางแผนเพื่อให้รู้จักลูกค้าแต่ละคนได้ดีขึ้น  และสามารถเข้าถึงลูกค้าได้จากทุกช่องทาง

4. ดิจิตอลไม่ใช่แค่เรื่องของการพัฒนานวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่มีแค่ Innovation เท่านั้น แต่ต้องเป็น  Sensational Innovation ที่นอกจากจะมี Hi Technology ยังต้องมี Hi Touchnology  ที่รู้จักและเข้าใจความรู้สึกต่างๆ ของผู้บริโภค รวมทั้งสามารถตอบโจทย์ความต้องการในมิติทางด้านอารมณ์ที่แตกต่างของผู้คน หรือที่เรียกว่า Human Touch ได้ด้วย

5. เมื่อผู้บริโภคปัจจุบัน คือ Digital Consumer ที่ไม่มีเส้นแบ่งของประเทศ หรือพื้นที่อีกต่อไป ในมุมมองของการทำตลาดและการสร้างแบรนด์ ต้องมองเลยไปมากกว่าแค่การพัฒนาสินค้าหรือบริการ  (Product Centric)  รวมทั้งต้องตอบโจทย์มากกว่าแค่กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย (Consumer Centric) แต่ต้องมองภาพใหญ่ในการตอบสนองความต้องการของผู้คนได้อย่างรอบด้าน (Human Centric)

 

– 5 กลุ่มธุรกิจ เสี่ยงถูก Disrupt พร้อมวิธีรับมือ  

ด้าน  รศ.ดร.พสุ  เดชะรินทร์ คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  คาดการณ์ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มที่ดีขึ้น  แต่ยังต้องเผชิญความท้าทายและภัยคุกคามต่างๆ อย่างรอบด้าน โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงทั้งจากพฤติกรรมลูกค้า  รูปแบบการแข่งขัน  รวมทั้งโฉมหน้าของคู่แข่ง ที่ปัจจุบันไม่ได้แข่งกันเฉพาะผู้ที่อยู่ในธุรกิจเดียวกันอีกต่อไป

03

“อุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากการพัฒนาเทคโนโลยีด้านข้อมูลและดิจิตอล  ภูมิทัศน์และสภาพแวดล้อมธุรกิจ  รวมทั้งพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง  ประกอบด้วย 5 กลุ่มหลักๆ  ได้แก่  1. กลุ่มธุรกิจไอทีและเทคโนโลยี  2. กลุ่มธุรกิจมีเดีย  3. ธุรกิจรีเทลและค้าปลีก  4. ธุรกิจด้านการเงินการธนาคาร  และ  5. กลุ่มธุรกิจการศึกษา”

ขณะที่โอกาสของธุรกิจที่จะสามารถเติบโตต่อได้ในช่วงครึ่งปีหลัง มาจากแนวทางต่อไปนี้

1. ขยายการลงทุนไปต่างประเทศ เนื่องจาก Domestic Consumption ลดลง จนไม่สามารถขับเคลื่อนให้ธุรกิจเติบโต จำเป็นต้องมองหาตลาดที่ยังมีการเติบโตและมีปริมาณการบริโภคภายในประเทศสูง อาทิ  เวียดนาม หรือ อินโดนีเซีย  เป็นต้น

2. หากไม่มีความพร้อมที่จะไปโตในต่างประเทศ การทำตลาดในประเทศไทย จำเป็นต้องโฟกัสเซ็กเม้นต์ให้ชัดเจน โดยเฉพาะภาคส่วนที่ยังเติบโตได้  เช่น  ท่องเที่ยว  เกษตร  หรือกลุ่มธุรกิจที่อยู่ในเป้าหมายการลงทุนของภาครัฐ  รวมทั้งการทำตลาดกับกลุ่มฐานราก ตามกลยุทธ์ป่าล้อมเมือง  เพื่อสร้างความแข็งแรงจากตลาดโดยรอบก่อนที่จะเจาะเข้ามาที่ส่วนกลาง

3. การเติบโตจากการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทำให้หลายบริษัทเร่งส่งเสริม High Value Product เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ และพยายามสร้างการเติบโตรูปแบบใหม่ๆ เช่น  ร่วมมือกับคนรุ่นใหม่ หรือกลุ่มสตาร์ทอัพ ที่มีไอเดียใหม่ๆ  ซึ่งจะเห็นว่าภาคธุรกิจเริ่มเข้ามาสนับสนุนหรือร่วมมือกับกลุ่มสตาร์ทอัพมากขึ้น

04

ขณะที่การก้าวเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 ในส่วนของการบริหารจัดการจำเป็นต้องทำอย่างสอดคล้องกัน ทั้งการเป็น  องค์กร 4.0 ที่เปลี่ยนระบบการทำงานเน้นส่งเสริมการสร้างทักษะให้บุคลากร ซึ่งประกอบด้วยคนหลากหลายเจนเนอเรชั่นมากขึ้น ขณะที่ผู้นำเองก็ต้องเป็น ผู้นำ 4.0  ที่พร้อมเปิดรับสิ่งใหม่และเรียนรู้ตลอดเวลา รวมทั้งสามารถตัดสินไจได้อย่างแม่นยำ จากการให้ความสำคัญกับเรื่องของ   Big Data เพื่อนำมาวิเคราะห์ข้อมูลอย่างรอบด้าน  ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจด้วยกลยุทธ์ 4.0 ที่ต้องมีมุมมองและวิธีคิดในการทำธุรกิจที่แตกต่างไปจากเดิม พร้อมการสร้างนวัตกรรมใหม่ เพื่อเป็นโอกาสในการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับองค์กรต่อไป

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : brandbuffet.in.th