Contact us on +668 4668 1993 or aspasign2020@gmail.com

ป้ายบนดิน : โครงถัก

ป้ายบนดิน : โครงถัก
June 17, 2016 dhammarong

1. ความเป็นมา
คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2547 เห็นชอบการดำเนินโครงการปรับปรุงทัศนียภาพบริเวณแนวเส้นทางจราจร และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติต่อไป และมีความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับการติดตั้งป้ายต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ ขณะนี้มีจำนวนมากเกินไป จุดที่ตั้งบางแห่งบดบังทัศนียภาพ และความสวยงามของบ้านเมือง และถือได้ว่าก่อให้เกิดมลภาวะทางสายตาแก่ผู้สัญจรไปมา ตามแนวเส้นทางจราจร และอาจมีปัญหาด้านความมั่นคงปลอดภัยของป้ายที่ติดตั้งด้วย จึงขอให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบดูแลและเข้มงวดกวดขันให้เป็นไปตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ประธานกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (นายพินิจ จารุสมบัติ รองนายกรัฐมนตรี) ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดการสิ่งแวดล้อมด้านมลทัศน์ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2548 เพื่อพิจารณาหามาตรการควบคุมการติดตั้งสิ่งก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ ในตำแหน่งที่ไม่มั่นคงแข็งแรง ก่อมลทัศน์ และทำลายพื้นที่สีเขียวของเมืองและชนบท เพื่อให้เมืองและชนบทมีทัศนียภาพที่ดี และในการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2548 ที่ประชุมมีมติมอบให้คณะอนุกรรมการจัดการสิ่งแวดล้อมด้านมลทัศน์รับไปพิจารณาจัดทำรายละเอียดของข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการจัดระเบียบป้ายโฆษณาภายใน 3 เดือน

2. การดำเนินงาน
คณะอนุกรรมการจัดการสิ่งแวดล้อมด้านมลทัศน์ ได้จัดประชุมเพื่อพิจารณารายละเอียดของข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการจัดระเบียบป้ายรวมทั้งสิ้น 6 ครั้ง คือ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2548 วันที่ 17 สิงหาคม 2548 วันที่ 6 กันยายน 2548 วันที่ 20 กันยายน 2548 วันที่ 26 กันยายน 2548 และวันที่ 17 ตุลาคม 2548 ตามลำดับ
ในการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ครั้งที่ 2/2548 เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2548 ที่ประชุมมีมติให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการ จัดประชุมระดมความคิดเห็นต่อ (ร่าง) ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการจัดระเบียบป้ายโดยเชิญหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ มหาวิทยาลัย สมาคม หน่วยงานเอกชน และองค์กรพัฒนาเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมประชุมให้ข้อคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวเพื่อเป็นข้อมูลให้แก่คณะอนุกรรมการจัดการสิ่งแวดล้อมด้านมลทัศน์ พิจารณาปรับปรุงข้อเสนอแนะดังกล่าว ต่อไป
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดประชุมระดมความคิดเห็นต่อ (ร่าง) ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการจัดระเบียบป้าย เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2548 มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 103 คน ประกอบด้วย ผู้แทนหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง 44 คน ผู้แทนประชาชน/มหาวิทยาลัย/หน่วยงานเอกชน 12 คน คณะอนุกรรมการจัดการสิ่งแวดล้อมด้านมลทัศน์ 14 คน และเจ้าหน้าที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 33 คน

3. หลักการและเหตุผล
ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมธรรมชาติ และสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น อันประกอบไปด้วย ป่าไม้ ต้นไม้ ทุ่งหญ้า อากาศ แม่น้ำ น้ำ รวมไปถึง โบราณสถาน ชุมชน แหล่งวัฒนธรรม ภาพ หรือ ทิวทัศน์ตามธรรมชาติ เป็นทรัพยากรของชาติที่เป็นทรัพย์สินสาธารณะ (Common Property) และประชาชนทุกคนมีสิทธิในการใช้ประโยชน์ร่วมกัน ดังนั้น เพื่อให้การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมและสิ่งแวดล้อมมีความยั่งยืน จึงควรมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเหล่านั้น โดยที่ประชาชนทุกคนจะต้องได้รับประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรธรรมชาตินั้นอย่างเท่าเทียมกัน
แม้ว่า จะมีการนำแนวคิดของทรัพยากรสินสาธารณะมาใช้ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม แต่ยังไม่มีการนำแนวคิดนี้ มาใช้ในการจัดการสิ่งแวดล้อมด้านมลทัศน์โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การติดตั้งป้ายโฆษณา พบว่า ปัจจุบัน มีการติดตั้งป้ายขนาดใหญ่ และขนาดเล็ก จำนวนมาก กระจายอย่างไม่เป็นระเบียบอยู่ทั่วไป ทั้งในพื้นที่เมือง เช่น ในแหล่งชุมชนที่มีประชาชนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ศูนย์การค้า เส้นทางคมนาคมที่เป็นเส้นทางเศรษฐกิจของกรุงเทพและเมืองใหญ่ ในพื้นที่ชนบท เช่น ในเส้นทางคมนาคมสายหลักระหว่างกรุงเทพและเมืองใหญ่ รวมถึงระหว่างเมืองใหญ่ๆ และในพื้นที่เฉพาะ เช่น เขตอนุรักษ์ เขตสิ่งแวดล้อม ศิปกรรมและสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ แหล่งมรดกโลก และแหล่งท่องเที่ยวที่มีความสำคัญ
การติดตั้งป้ายที่บดบังภูมิทัศน์ ทิวทัศน์ และทัศนียภาพอันเป็นสาธารณสมบัติของประชาชนทุกคนนั้น นอกจาก จะเป็นการกระทำที่ล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของประชาชนแล้วยังทำให้เกิดปัญหามลทัศน์ ปัญหาความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ปัญหาความสะอาด และที่สำคัญ คือปัญหาความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินประชาชน นอกจากนี้ ป้ายบางป้ายมีการใช้ภาพหรือข้อความที่ไม่เหมาะสม ทำให้เกิดปัญหาทัศนอุจาด อาจทำให้เกิดปัญหาสังคมติดตามมาได้
ในการอนุญาตให้ติดตั้งป้าย การควบคุม และดูแลเกี่ยวกับป้าย มีหลายหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับ ดูแล รับผิดชอบ ตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานที่แตกต่างกัน เช่น กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบด้านความปลอดภัยของการติดตั้งป้ายและโครงป้าย และการกำหนดอัตราภาษีป้าย กรมทางหลวง รับผิดชอบป้ายที่อยู่ในเขตทางหลวง ส่วนกรุงเทพมหานครและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นหน่วยงานที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนด เป็นต้น
การที่แต่ละหน่วยงานทำหน้าที่ตามอำนาจที่กฎหมายกำหนดให้เท่านั้น ทำให้การแกไขปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันไม่ทันต่อสถานการณ์ เพราะป้ายเป็นผลพวงของการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงตามกระแสการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ปัญหาของป้ายจึงเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น ทำให้กฎหมายที่มีอยู่ไม่เหมาะสมและไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นจริงในปัจจุบัน และด้วยความสลับซับซ้อนของปัญหาป้าย ทำให้บางครั้งการแก้ปัญหาไม่สามารถใช้กฎหมายฉบับใดเพียงฉบับเดียวได้ จำเป็นต้องใช้กฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาไปพร้อมกัน เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมและทันต่อเวลา นอกจากนี้ ยังปรากฏว่าในปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดที่มีหน้าที่ดูแล รับผิดชอบครอบคลุมถึงปัญหามลทัศน์ที่เกิดจากป้าย
การจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการจัดระเบียบป้าย เพื่อให้มีการจัดระเบียบป้ายที่ครอบคลุมปัญหาในทุกมิติ รวมทั้ง ให้สามารถนำไปใช้ในทางปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนอย่างแท้จริง

4. วัตถุประสงค์
1. การจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการจัดระเบียบป้ายเพื่อเป็นนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัต
2. เสนอแนะมาตรการในการแปลงข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการจัดระเบียบป้าย ไปสู่การปฏิบัติ

5. วิสัยทัศน์
ประเทศไทยปราศจากป้ายที่เป็นมลทัศน์

6. พันธกิจ
1. ลดจำนวน ขนาด และความสูงของป้าย
2. ยกเลิก เพิกถอน รื้อถอน ป้องกัน และปราบปรามการติดตั้งป้ายที่ฝ่าฝืนกฎหมายรวมทั้ง ป้ายที่ก่อให้เกิดมลทัศน์ให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2553

7. เป้าหมาย
1. กำหนดเขตการติดตั้งป้าย รวมทั้งกำหนดขนาด รูปแบบ จำนวน และความสูงของป้ายในแต่ละเขต เพื่อลดผลกระทบมลทัศน์ทางสายตา ภายใน 5 ปี
2. นำมาตรการทางภาษีมาใช้เป็นเครื่องจูงใจในการจัดระเบียบป้าย
3. ออกกฎ ระเบียบ ประกาศ ข้อบังคับเพิ่มเติมเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ
4. เพิ่มศักยภาพของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานในการควบคุม ดูแล ติดตาม และ ตรวจสอบผลการดำเนินงานการจัดระเบียบป้าย
5. ประชาคมมีส่วนร่วมในการจัดระเบียบป้าย

8. นิยามศัพท์
การจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการจัดระเบียบป้าย ได้กำหนดนิยามศัพท์ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
ป้าย หมายถึง ป้าย หรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดตั้ง หรือตั้งป้าย1 ที่แสดงชื่อ ยี่ห้อ หรือสื่อความหมายที่ใช้ในการ
ประกอบการค้าหรือประกอบกิจการอื่น ไม่ว่าจะแสดงหรือโฆษณาไว้ที่วัตถุใดๆ ด้วยอักษร ภาพ หรือเครื่องหมายที่เขียน แกะสลัก จารึกหรือทำให้ปรากฏด้วยวิธีอื่น2 แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ
1. ป้ายถาวร หมายถึง ป้ายที่มีการติดตั้ง และใช้วัสดุที่คงทนถาวร แบ่งเป็น
1.1 ป้ายที่เคลื่อนที่ไม่ได้ หมายถึง ป้ายทุกขนาด ทุกประเภทที่ติดบนพื้นดิน ที่ติดกับอาคาร หรือพื้นผิวอาคารและที่ติดบนอาคาร
1.2 ป้ายที่เคลื่อนที่ได้ หมายถึงป้ายที่ติดกับพาหนะ เช่น รถ เรือ และรถไฟ
2. ป้ายชั่วคราว หมายถึง ป้ายที่ติดตั้ง และใช้วัสดุที่ไม่คงทนถาวร เช่น ป้ายที่เป็นแผ่น ใบปลิว ป้ายผ้าใบบังหน้าร้านค้า และป้ายโฆษณางานวัด เป็นต้น ป้ายชั่วคราวมีทั้งป้ายที่เคลื่อนที่ไม่ได้ และป้ายที่เคลื่อนที่ได
ทั้งนี้ ให้ยกเว้นป้ายที่เกี่ยวกับการจราจร และป้ายที่แจ้งข่าวสารทางราชการที่ไม่มีการโฆษณา ชื่อ ยี่ห้อ และภาพของสินค้า หรือร้านค้า
มลทัศน์ หมายถึง ภาพหรือทิวทัศน์ของสิ่งก่อสร้าง และ/หรือสภาพภูมิทัศน์ที่รกรุงรังรกตา หรือบดบังทิวทัศน์อันสวยงาม อันเนื่องมาจากป้าย สิ่งก่อสร้าง ของเสีย การกระทำ หรือการปล่อยปะละเลยของมนุษย์อื่นๆ ที่ก่อให้เกิดความไม่เจริญตา เจริญใจแก่ผู้พบเห็น
ทัศนอุจาด หมายถึง การเห็นสิ่งที่น่าเกลียด
ป้ายที่เป็นมลทัศน์ หมายถึง ป้ายโฆษณา หรือป้ายอื่นๆ ที่มีลักษณะดังต่อไปนี้
1. ป้ายที่ติดบนอาคารสูง ให้หมายความถึง อาคารที่สูงตั้งแต่ 23 เมตรขึ้นไป และป้ายที่มีความสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เช่น ตามพระราชบัญญัติความคุมอาคาร พ.ศ. 2522 กำหนดให้ป้ายที่ติดบนอาคารมีความสูงไม่เกิน 6 เมตร และไม่เกิน 30 เมตร จากระดับพื้นดิน (เฉพาะในกรุงเทพมหานคร)
2. ป้ายที่ติดในระยะ 50 เมตร จากเขตทางพิเศษ เขตทางรถไฟ เส้นทางคมนาคมที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจสายหลัก เส้นทางคมนาคมที่มีภูมิทัศน์สวยงามและมีระบบนิเวศเฉพาะ และจากริมแม่น้ำ
3. ป้ายที่ติดในรัศมี 200 เมตร จากพื้นที่เฉพาะตามที่กำหนดในข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการจัดระเบียบป้าย
4. ป้ายที่ติดภายในระยะ 500 เมตร จากทางร่วมทางแยก วงเวียน ทางโค้ง และที่คับขัน ตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522
5. ป้ายที่ใช้ภาพหรือข้อความที่ขัด และไม่สอดคล้องกับกฎหมาย ความมั่นคง ศีลธรรม และวัฒนธรรมอันดีของประเทศ
6. ป้ายที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย
7. ป้ายที่บดบังภูมิทัศน์ หรือทำให้เกิดมลทัศน์ หรือบังแดด บังลม และคลื่นสัญญาณ
8. ป้ายที่เป็นมลทัศน์ ให้หมายรวมถึง คำจำกัดความของป้ายที่เป็นมลทัศน์ ซึ่งกำหนดความหมายของป้ายเพิ่มเติม ตามกฎ ระเบียบ ประกาศ และข้อบังคับที่ออกตามข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการจัดระเบียบป้าย
1 ป้ายตามความหมายในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
2 ป้ายตามความหมายในพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510

9. ลักษณะทั่วไปของป้าย
ป้ายที่พบอยู่ทั่วไปในปัจจุบันมีมากมายหลายประเภท สามารถจำแนกประเภทของป้ายได้หลายประเภท ดังนี้
1. จำแนกตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ป้ายในพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 และพระราชบัญญัติภาษีป้าย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2534 และป้ายในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
2. จำแนกตามขนาดของป้าย เป็นป้ายขนาดใหญ่ และ ป้ายขนาดเล็ก
ป้ายขนาดใหญ่ หมายถึง
1. ป้ายที่ตั้งบนดิน ที่มีความสูงตั้งแต่ 15 เมตร ขึ้นไป หรือมีพื้นที่ของป้ายตั้งแต่ 50 ตารางเมตร ขึ้นไป
2. ป้ายบนดาดฟ้า หรือหลังคาของอาคาร ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 25 ตารางเมตร ขึ้นไป
ป้ายขนาดเล็ก หมายถึง
1. ป้ายที่ตั้งบนดิน ที่มีความสูงน้อยกว่า 15 เมตร หรือมีพื้นที่ของป้าย น้อยกว่า 50 ตารางเมตร
2. ป้ายบนดาดฟ้า หรือหลังคาของอาคาร ที่มีพื้นที่น้อยกว่า 25 ตารางเมตร
3. จำแนกตามลักษณะการใช้งาน เป็น 6 ประเภท คือ
1) ป้ายที่บอกชื่อ สถานที่ ร้านค้า อาคาร
2) ป้ายโฆษณา ได้แก่ ป้ายโฆษณาสินค้า และสถานประกอบการ
3) ป้ายตามกฎหมาย เช่น ป้ายที่แจ้งข่าวสารทางราชการ ป้ายจราจร และป้ายบอกทาง เป็นต้น
4) ป้ายพระราชพิธี ป้ายต้อนรับอาคันตุกะ
5) ป้ายเลือกตั้ง
6) ป้ายสื่อความหมายอื่นๆ เช่น ป้ายขอบคุณ
4. จำแนกตามลักษณะของอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตป้าย เป็นป้ายคัดเอาท์ ป้ายอักษร ตัววิ่ง ป้ายเคลื่อนที่ ป้ายผ้า ป้ายผ้าใบ ป้ายกระดาษ เป็นต้น
5. จำแนกตามลักษณะการติดตั้งป้าย เป็น
1) ป้ายที่เคลื่อนที่ไม่ได้ ได้แก่ ป้ายที่ติดหน้าร้าน ป้ายที่ติดบนอาคาร ป้ายที่ติดยื่นล้ำบนทางสาธารณะ และป้ายที่ติดบนทางสาธารณะ เป็นต้น
2) ป้ายที่เคลื่อนที่ได้ เช่น ป้ายที่ติดบนรถ เรือ รถไฟ
6. จำแนกตามระยะเวลาการใช้งาน เป็น
1) ป้ายถาวร เช่น ป้ายขนาดใหญ่ ป้ายชื่อร้าน ป้ายบอกทางของทางราชการ
2) ป้ายชั่วคราว เช่น แผ่นปลิว ป้ายผ้าใบที่โฆษณาสินค้าที่ติดหน้าร้านค้าและสามารถบังแดดได้ ป้ายโฆษณางานวัด
7. จำแนกตามแหล่งที่มาของป้าย เป็น ป้ายของราชการ และป้ายของเอกชน

10. สถานการณ์และประเด็นปัญหาป้าย
สถานการณ์ และปัญหาของป้ายที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน และมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีสาเหตุสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. มีป้ายขนาดใหญ่ จำนวนมาก และมีการติดบนอาคารสูงเพิ่มมากขึ้น
กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ที่มีการติดตั้งป้ายมากที่สุด พบว่า มีป้ายขนาดใหญ่ในกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งหมด 1,323 ป้าย เป็นป้ายที่ตั้งบนดิน 785 ป้าย ตั้งบนอาคาร 538 ป้าย เป็นอัตราส่วนร้อยละ 59 และ 41 ตามลำดับ ในจำนวนดังกล่าว เป็นป้ายที่มีการขออนุญาต 602 ป้าย (ร้อยละ 46) ไม่มีการขออนุญาต 546 ป้าย (ร้อยละ 41) และยังไม่มีการตรวจสอบ 175 ป้าย (ร้อยละ 13) (รายละเอียดในตารางที่ 1)
2. การติดตั้งป้ายไม่เป็นระเบียบ ทำให้บดบังทิวทัศน์ ภูมิทัศน์ และทัศนียภาพที่สวยงาม และบดบังทัศน วิสัยในการจราจร
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการติดตั้งป้าย ไม่มีการกำหนดระยะห่าง และความหนาแน่นของป้ายในแต่ละพื้นที่ ทำให้มีการติดตั้งป้ายจำนวนมากโดยไม่เป็นระเบียบ บดบังทิวทัศน์ ภูมิทัศน์ และทัศนียภาพที่สวยงาม และบดบังทัศนวิสัยในการจราจร เช่น มีการติดตั้งป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ในบริเวณที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ทำให้ไม่สามารถมองเห็นความสวยงาม และความสง่างามของแหล่งโบราณสถานดังกล่าว เป็นการลดคุณค่าและความสำคัญของแหล่งโบราณนั้นๆ รวมทั้ง ยังเป็นการทำลายทัศนียภาพของโบราณสถานและโบราณวัตถุเหล่านั้นด้วย
ในเส้นทางคมนาคมที่สำคัญ เช่น ในบริเวณถนนวิภาวดีรังสิต ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญเชื่อมจากท่าอากาศยานกรุงเทพเข้ามาสู่ศูนย์กลางของกรุงเทพมหานคร พบว่า มีป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ในเส้นทางดังกล่าวถึง 248 ป้าย (ร้อยละ 19 ของจำนวนป้ายทั้งหมด 1,323 ป้าย) โดยเป็นป้ายที่อยู่ในเขตจตุจักรมากที่สุดถึง 130 ป้าย เขตดินแดง 44 ป้าย เขตดอนเมือง 41 ป้าย และเขตบางเขน 33 ป้าย (แผนที่ 1 แสดงตำแหน่งที่ตั้งป้ายในกรุงเทพมหานคร) ทำให้ไม่เป็นระเบียบ และเกิดปัญหามลทัศน์ และมีการติดป้าย เพื่อสร้างความสนใจด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ป้ายโฆษณายาสระผมที่ติดอยู่บริเวณทางด่วน สร้างความสนใจด้วยการโฆษณาที่ต้องติดตามดูป้ายโฆษณาหลายป้าย เพื่อดึงดูดความสนใจของคนดูให้ติดตามดูป้ายต่อไป อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้งป้ายที่กีดขวางสัญญาณจราจร ทำให้เกิดอุบัติเหตุ สร้างความสูญเสีย และความเสียหายให้แก่ประชาชน
3. มีป้ายที่ฝ่าฝืนกฎหมาย
การติดตั้งป้ายในปัจจุบัน พบว่า มีป้ายโฆษณาที่ทำผิดกฎหมายควบคุมอาคาร เช่น ป้ายมีขนาดใหญ่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ป้ายที่ติดบังทางหนีไฟ หรือช่องระบายอากาศ ในการประชุมคณะกรรมการพิจารณาแก้ไขปัญหาป้ายโฆษณา กรณีป้ายโฆษณาบดบังทัศนียภาพอันสวยงามของเมือง ใช้ภาพหรือข้อความโฆษณาที่ไม่เหมาะสม ก่อสร้างป้ายฝ่าฝืนกฎหมายควบคุมอาคาร และป้ายขาดความมั่นคงแข็งแรงในเขตกรุงเทพมหานคร จัดโดยกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2548 มีรองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน ได้จัดกลุ่มปัญหาป้ายโฆษณาเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มป้ายที่ฝ่าฝืนกฎหมายควบคุมอาคาร จำนวน 274 ป้าย กลุ่มป้ายที่ไม่มีความมั่นคงแข็งแรง จำนวน 134 ป้าย กลุ่มป้ายที่บดบังทัศนียภาพ จำนวน 58 ป้าย และกลุ่มป้ายที่ใช้ภาพหรือข้อความที่ไม่เหมาะสม จำนวน 5 ป้าย
4. ป้ายไม่มั่นคงแข็งแรง และขาดความปลอดภัย
กรุงเทพมหานคร ได้จัดทำรายงานการตรวจสอบความแข็งแรงของโครงสร้างของป้ายขนาดใหญ่ในกรุงเทพมหานครทั้งหมด พบว่า เป็นป้ายที่มีความมั่นคง 1,029 ป้าย ไม่มั่นคง 134 ป้าย และยังไม่ได้ตรวจสอบ 160 ป้าย คิดเป็นร้อยละ 78, 10 และ 12 ตามลำดับ
จากการติดตามตรวจสอบของกรุงเทพมหานคร พบว่า ในระหว่างเดือนมกราคม ถึงเดือนกรกฎาคม 2548 มีป้ายล้มทั้งหมด 16 ป้าย ซึ่งเป็นป้ายที่มีโครงสร้างไม่มั่นคงแข็งแรงโดยเป็นการสร้างผิดไปจากแบบที่ได้รับอนุญาตในการก่อสร้าง ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 หรือป้ายได้รับผลกระทบจากลมและฝนที่รุนแรง ทำให้เกิดการพังทลายสร้างความเสียหายต่อชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน
5. ป้ายที่ใช้ภาพหรือข้อความที่ขัด และไม่สอดคล้องกับกฎหมาย ความมั่นคง ศีลธรรม และวัฒนธรรมอันดีของประเทศ
ในปัจจุบัน มีป้ายที่มีการใช้ภาพหรือข้อความที่สื่อความหมายที่ไม่เหมาะสม มีผลกระทบต่อพฤติกรรมของคน อาจทำให้มีแนวโน้มไปในทางก้าวร้าว หรือส่อไปในทางที่ขัดวัฒนธรรม ประเพณี หรือผิดศีลธรรมอันดีของไทย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสังคมในอนาคตได้ เช่น ป้ายโฆษณาภาพยนตร์ มีการตั้งชื่อเรื่องและการสร้างภาพประกอบ ในลักษณะที่โหดเหี้ยมอุจาดตา อันที่จะสร้างความกระเทือนใจ ให้แก่ผู้ที่ได้พบเห็น ทำให้เกิดความขุ่นเคือง หรือหวั่นไหวคล้อยตามได้
6. กฎหมายที่มีอยู่ไม่ครอบคลุม และไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นจริง
กฎหมายเกี่ยวกับป้ายที่มีอยู่ในปัจจุบัน เป็นกฎหมายที่เริ่มจากพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และมีกฎกระทรวงมหาดไทยอีกหลายฉบับ ที่ออกตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
อย่างไรก็ตาม ป้ายโฆษณาเป็นผลผลิต ที่เกิดจากการพัฒนารูปแบบ และวิธีการของการประชาสัมพันธ์ ป้ายโฆษณาจึงมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจ เช่น ป้ายโฆษณาโดยทั่วไปจะติดตั้งบนพื้นดิน ก็ได้มีการพัฒนาไปเป็นการติดป้ายโฆษณาบนยอดอาคารสูง เพื่อให้สามารถมองเห็นกันได้อย่างทั่วถึง ซึ่งสอดคล้องกับการขยายตัวของระบบการจราจรจากพื้นดินไปเป็นระบบทางด่วน หรือเดิมวัสดุที่ใช้ในการทำป้ายมีเพียงผ้า ผ้าใบ หรือกระดาษ ที่ติดบนพื้นดิน บนอาคาร หรือผนังอาคาร ต่อมามีการพัฒนาวัสดุที่ใช้ในการทำป้ายเป็นสติกเกอร์ที่ติดกับกระจก หรือการใช้สีมาพ่นบนกระจก ทั้งกระจกอาคาร และตัวอาคารขนาดใหญ่ รวมทั้ง กระจกและตัวรถทุกชนิด เช่น รถประกอบธุรกิจ รถโดยสาร รถไฟฟ้า รถไฟ ฯลฯ ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบ วิธีการ และวัสดุที่ใช้ในการผลิตป้ายอย่างรวดเร็ว ทำให้กฎหมายและระเบียบเกี่ยวกับป้ายที่มีอยู่ไม่ครอบคลุม และไม่เหมาะสมกับการจัดระเบียบป้าย ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นจริง
7. ไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับป้ายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันมีหลายฉบับ ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับ ดูแล ของหน่วยงานหลายหน่วยงาน ประกอบกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ ยังขาดทั้งบุคลากร และงบประมาณในการติดตามตรวจสอบให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง จึงทำให้ไม่มีการบังคับใช้ กฎหมายอย่างเคร่งครัด

11. การกำหนดพื้นที่ในการจัดระเบียบป้าย
การจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการจัดระเบียบป้าย เป็นการดำเนินงานในภาพรวมของประเทศ เพื่อเป็นแนวทางหลักให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ในการปฏิบัติ โดยแบ่งพื้นที่เป็น 3 ประเภท คือ พื้นที่เมือง พื้นที่ชนบท และพื้นที่เฉพาะ
เนื่องจากทั้ง 3 พื้นที่ มีลักษณะ และขนาดความรุนแรงของปัญหาที่เป็นผลกระทบจากการติดตั้งป้ายแตกต่างกัน ทำให้ต้องใช้วิธีการแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกัน ซึ่งการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการจัดระเบียบป้าย ได้ให้นิยามของพื้นที่ทั้ง 3 พื้นที่ ดังนี้
1. พื้นที่เมือง หมายถึง พื้นที่ที่อยู่ภายใต้กฎกระทรวงผังเมืองรวม จำแนกได้หลายประเภท เช่น ประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย ประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก ประเภทที่ดินพาณิชยกรรม และประเภทที่ดินอุตสาหกรรม เป็นต้น
2. พื้นที่ชนบท หมายถึง พื้นที่ที่ไม่อยู่ภายใต้กฎกระทรวงผังเมืองรวม
3. พื้นที่เฉพาะ หมายถึง พื้นที่ที่มีลักษณะเฉพาะ ที่มีคุณค่าอันควรแก่การดูแล รักษา และปกป้องเป็นพิเศษ เพื่อใช้คงคุณค่านั้นไว้ ประกอบด้วยพื้นที่ ดังต่อไปนี้
3.1 เขตอนุรักษ์ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 หมายถึง เขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตสงวนเพื่อการท่องเที่ยว และเขตพื้นที่คุ้มครองอย่างอื่น เพื่อสงวนและรักษาสภาพธรรมชาติตามที่กฎหมายกำหนด
3.2 สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม และสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ
3.2.1 สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม หมายถึง สิ่งแวดล้อมและบรรยากาศที่อยู่โดยรอบแหล่งศิลปกรรมที่มีความเกี่ยวเนื่อง และมีความสัมพันธ์กันทั้งทางตรงและทางอ้อม ศิลปกรรมในที่นี้ คือ สิ่งที่มนุษย์ได้สร้างหรือกำหนดขึ้นทั้งในอดีต และปัจจุบัน และได้รับการยกย่องว่ามีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี เทคโนโลยี ได้แก่ พระราชวัง วัง โบราณสถาน แหล่งโบราณคดี ศาสนสถาน ศาล อนุสาวรีย์ ป้อม คูเมือง กำแพงเมือง คลอง สะพาน ท่าน้ำ แหล่งชุมชนโบราณ และอาคารที่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรม
นอกจากนี้ สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม หมายถึง พื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่สะท้อนถึงคุณลักษณะสำคัญทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม บอกเล่าเรื่องราวพัฒนาการของสังคม และมนุษย์ ผ่านประวัติศาสตร์อันเป็นผลเกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรม องค์ความรู้และการให้คุณค่า การให้ความหมายของสังคม
อีกนัยหนึ่ง สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม หมายถึง
1) แหล่งศิลปกรรม รวมกับสภาพแวดล้อมที่อยู่โดยรอบ เช่น เขาชีจรรย์ พิพิธภัณฑ์จันเสน
2) พื้นที่ที่มีการดำรงอยู่ของมรดกทางวัฒนธรรม ( Cultural Heritage ) ย่านเยาวราช บ้านครัว บ้านบาตร เป็นต้น
3) พื้นที่ที่เมื่อรวมตัวกัน ประกอบไปด้วยองค์ประกอบที่มีคุณค่าสูง ( Collective Value ) ได้แก่ ชุมชนริมน้ำ ชุมชนชนบทอื่นๆ เช่น เกาะเกร็ด ตลาดสามชุก
3.2.2 สิ่งแวดล้อมธรรมชาติ หมายถึง ธรรมชาติที่มีคุณค่าทางวิทยาการ และสุนทรียภาพที่เกี่ยวข้องเป็นสัณฐานที่สำคัญทางธรณีวิทยา และภูมิศาสตร์ อันเป็นเอกลักษณ์ หรือสัญลักษณ์ของท้องถิ่นนั้นๆ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ธรรมชาติที่ฟื้นคืนสู่สภาพเดิมได้ โดยระบบของตัวเอง เช่น ป่าไม้ ทุ่งหญ้า สัตว์ป่า สัตว์น้ำ และอุทยานต่างๆ เป็นต้น และธรรมชาติที่ไม่สามารถฟื้นฟูคืนสู่สภาพเดิมได้เมื่อถูกทำลายก็จะหมดสภาพไป เช่น ภูเขา ถ้ำ น้ำตก เกาะ แก่ง หาดทราย หาดหิน ทะเลสาบ หนอง บึง และแหล่งที่มีซากดึกดำบรรพ์ เป็นต้น
3.3 แหล่งมรดกโลก ปัจจุบันประเทศไทยมีแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ ที่ได้รับการประกาศขึ้นบัญชีเป็นแหล่งมรดกโลกรวมทั้งสิ้น 5 แหล่ง ประกอบด้วย แหล่งมรดกทางวัฒนธรรม 3 แหล่ง คือ เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัย และเมืองบริวาร นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง และแหล่งมรดกทางธรรมชาติ 2 แหล่ง คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง และกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่
3.4 แหล่งท่องเที่ยว เช่น ไนท์ซาฟารี ปางช้างแม่สา และถนนข้าวสาร เป็นต้น

12. บทบาทและอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
1. หน่วยงานรัฐ
การบริหารจัดการป้ายในพื้นที่เมืองและในพื้นที่ชนบท อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของหน่วยงานราชการและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 6 หน่วยงาน ประกอบด้วย กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร (สำนักผังเมือง สำนักการโยธา และสำนักเทศกิจ) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยแต่ละหน่วยงานมีการดำเนินงานและการบริหารจัดการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับป้าย ดังนี้
1.1 กระทรวงมหาดไทย
1.1.1 กรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการกำหนดระเบียบวิธีการและขั้นตอนในการขออนุญาตติดตั้งป้าย โดยออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับป้ายหลายฉบับ มีสาระสำคัญ ดังนี้
1) พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 กล่าวถึง ลักษณะป้ายที่กำหนดในกฎหมายเป็นอาคารประเภทหนึ่ง วิธีการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน เคลื่อนย้าย และใช้ หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร
2) กฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 23 (พ.ศ. 2533) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เพิ่มเติมรายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะของป้ายตามมาตรา 4 ในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
3) กฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 กล่าวถึงรายละเอียดของ พื้นที่ ขนาด ความสูงของป้าย ในแต่ละพื้นที่ที่อนุญาตให้ติดตั้งป้าย วัสดุของป้าย แนวอาคารและระยะต่างๆ ของอาคาร
1.1.2 พระราชบัญญัติภาษีป้าย มี 2 ฉบับ คือพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 และพระราชบัญญัติภาษีป้าย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2534 กล่าวถึง ความหมายของป้ายวิธีการเสียภาษี ป้ายที่ไม่ต้องเสียภาษี วิธีการยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย และวิธีการประเมินภาษีป้ายและการชำระภาษีป้าย
1.1.3 พระราชบัญญัติรักษาความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 และ กฎกระทรวง (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติรักษาความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535
1.2 กระทรวงคมนาคม
1.2.1 กรมทางหลวง เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการกำหนดระเบียบวิธีการ และขั้นตอนในการขออนุญาตติดตั้งป้ายที่อยู่ในเขตความรับผิดชอบของกรมทางหลวงตามมาตรา 47 ในพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535
1.2.2 กรมขนส่งทางน้ำ และพาณิชยนาวี เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการดูแลเกี่ยวกับการขนส่งทางน้ำ
1.2.3 กรมการขนส่งทางบก ออกกฎหมายที่เกี่ยวกับป้าย 2 ฉบับ มีสาระสำคัญ ดังนี้
1) พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตราที่นำมาใช้ในการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการจัดระเบียบป้าย มี 2 มาตรา คือ มาตรา 4 บทนิยาม เกี่ยวกับ ทางร่วมทางแยก วงเวียน ทางโค้ง และที่คับขัน และมาตรา 130 ห้ามมิให้ผู้ใดเผา หรือกระทำด้วยประการใดๆ ภายในระยะ 500 เมตร จากทางเดินรถ เป็นเหตุให้เกิดควัน หรือสิ่งอื่นใดในลักษณะที่อาจทำให้ไม่ปลอดภัยแก่การจราจรในทางเดินรถนั้น
2) ประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่องหลักเกณฑ์ และวิธีการให้ความเห็นชอบตัวอักษร ภาพ หรือเครื่องหมายเพื่อการโฆษณาที่ตัวถังรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารประจำทางและไม่ประจำทาง กล่าวถึงหลักเกณฑ์ และวิธีการในการขออนุญาตโฆษณาที่ตัวถังรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารประจำทางและไม่ประจำทาง ประกาศ ณ วันที่ 9 มีนาคม 2548
1.3 กระทรวงพาณิชย์ มีพระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ. 2499 หมวด 2 มาตรา 15 ให้ผู้ประกอบการพาณิชย์ จัดให้มีป้ายชื่อที่ใช้ในการประกอบพาณิชยกิจไว้ที่หน้าสำนักงานใหญ่ และสำนักงานสาขา โดยเปิดเผยภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้จดทะเบียน
1.4 สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ในการให้ความคุ้มครองแก่ผู้บริโภค ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ซึ่งมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณา ในส่วนที่ 1 การคุ้มครองผู้บริโภคในด้านการโฆษณามาตรา 22 วรรค 2 ข้อ (3) ข้อความที่เป็นการสนับสนุนโดยตรงหรือโดยอ้อมให้มีการกระทำผิดกฎหมายหรือศีลธรรมหรือนำไปสู่ความเสื่อมเสียในวัฒนธรรมของชาติ
1.5 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้อาศัยมาตรา 43 มาตรา 44 และ มาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 ประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมในจังหวัดภูเก็ต และจังหวัดกระบี่ ซึ่งในประกาศฯ ฉบับดังกล่าว มีมาตรการเกี่ยวกับการกำหนดขนาดของป้าย มาตรการที่ไม่ให้มีการติดตั้งป้ายบดบังทัศนียภาพ และมาตรการด้านความปลอดภัยในการติดตั้งป้าย
2. หน่วยงานเอกชน
หน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้องกับป้าย มีทั้งองค์กร สมาคม และผู้ประกอบธุรกิจรายย่อย ประกอบด้วย
2.1 สภาวิศวกร ได้รับการจัดตั้งตามพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542 ให้สภาวิศวกร เป็นนิติบุคคล เพื่อทำหน้าที่ ดังนี้
1) ออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอประกอบอาชีพวิศวกรรมควบคุม
2) พักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาต
3) รับรองปริญญา ประกาศนียบัตรหรือวุฒิบัตรในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม
4) รับรองความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม
5) เสนอแนะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการกำหนด และการเลิกสาขาวิศวกรรมควบคุม และออกข้อบังคับสภาวิศวกรตามมาตรา 8 (6) โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากสภานายกพิเศษ และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเษกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
2.2 สภาสถาปนิก ได้รับการจัดตั้งตามพระราชบัญญัติวิชาชีพสถาปัตยกรรม พ.ศ. 2508 และมีการปรับปรุงแก้ไขเป็นพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543 ขึ้นใช้บังคับแทน ให้สภาสถาปนิก มีหน้าที่ ดังนี้
1) ส่งเสริมการศึกษา การวิจัย และการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม
2) ส่งเสริมความสามัคคี และไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของสมาชิก
3) ส่งเสริมสวัสดิภาพ และผดุงเกียรติของสมาชิก
4) ควบคุมความประพฤติ และดำเนินงานของประกอบวิชาชีพฯ ให้ถูกต้องตามมาตรฐานและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรม
5) ช่วยเหลือ แนะนำ เผยแพร่ และให้บริการงานวิชาการต่างๆ แก่ประชาชน และองค์การอื่น ที่เกี่ยวกับวิทยาการและเทคโนโลยีทางสถาปัตยกรรม
6) ให้คำปรึกษาหรือข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเกี่ยวกับนโยบาย และปัญหาด้านสถาปัตยกรรม รวมทั้งงานเทคโนโลยี
7) เป็นตัวแทนของประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมของประเทศไทย
8) ดำเนินการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
2.3 สมาคมผู้ผลิตป้าย และโฆษณา เป็นสมาคมของผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับป้าย และโฆษณา มีหน้าที่ ดังนี้
1) ร่วมกับกรุงเทพมหานคร และสมาชิกวิชาชีพที่เกี่ยวข้องจัดตั้งคณะกรรมการร่วม เพื่อพิจารณาแนวทางการแก้ไขการจัดระเบียบป้ายโฆษณา
2) ผลักดันให้มีการปรับปรุง และแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจป้ายโฆษณา ให้มีความชัดเจนเหมาะสม และผลักดัน ให้มีการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับป้ายโฆษณาโดยตรง
3) รณรงค์ และใช้ข้อบังคับทางกฎหมาย ให้ผู้ประกอบการดำเนินการตามแนวทางที่คณะกรรมการร่วมกำหนด
4) ผลักดันให้มีการปรับปรุงการจัดเก็บภาษีป้ายโฆษณา ให้มีความเหมาะสม และเป็นธรรมกับผู้ประกอบการธุรกิจป้ายโฆษณามากยิ่งขึ้น
5) ดำเนินการตรวจสอบโครงสร้างป้ายโฆษณา ตามโครงการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างป้ายโฆษณา ในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ให้กับหน่วยงานราชการที่กำกับดูแลประชาชนทั่วไปและสังคมโดยรวม
2.4 สมาคมโฆษณาและธุรกิจ เป็นสมาคมของผู้ประกอบธุรกิจโฆษณา มีหน้าที่ ดังนี้
1) แลกเปลี่ยนความรู้ในระหว่างสมาชิก ติดต่อประสานกับสถาบันการโฆษณา สถาบันสื่อโฆษณา วิทยุ โทรทัศน์ นิตยสารและสื่ออื่นๆ รวมทั้ง สถาบันที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ
2) เผยแพร่คุณค่าของการโฆษณา ติดต่อจัดให้มีการหารือ ประสานงาน เพื่อประสิทธิภาพของงานโฆษณา และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการโฆษณา ตามความต้องการของสถาบันต่างๆ
3) เพิ่มพูนมาตรฐานของวิชาชีพ และจริยธรรมโฆษณา
4) ดำเนินการอื่นใดเพื่อประโยชน์ทางวิชาชีพโฆษณา
กล่าวโดยสรุปได้ว่า บทบาทของหน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้องกับป้าย เป็นการรวมกลุ่มของสมาชิกที่ประกอบอาชีพเดียวกัน เพื่อให้สามารถกำหนดทิศทางของการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ สมาคมต่างๆ ได้ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐเป็นอย่างดี และมีความตระหนักถึงความรับผิดชอบทางสังคมด้วย

13. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการจัดระเบียบป้าย
เพื่อให้การแก้ไขปัญหาป้ายโฆษณามีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ และสอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน การจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการจัดระเบียบป้าย เน้นแนวทางการแก้ปัญหาแบบบูรณาการและเป็นองค์กร รวมทั้งด้านหลักการ และการนำไปปฏิบัติ ดังนี้
1. การจัดระเบียบป้าย
1.1 ควรลดขนาด จำนวน และความสูงของป้าย และโครงป้ายทุกประเภท
1.2 กำหนดพื้นที่ห้ามติดตั้งป้ายให้ชัดเจนโดยเฉพาะบริเวณหรือพื้นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ แหล่งศิลปกรรม แหล่งธรรมชาติ สถานที่สำคัญทางศาสนา และบริเวณเส้นทางคมนาคมสายหลักของประเทศ เส้นทางที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เส้นทางคมนาคมที่มีภูมิทัศน์สวยงาม และเส้นทางที่มีระบบนิเวศเฉพาะหรือเปราะบาง เพื่อป้องกันมลทัศน์และความปลอดภัย
1.3 ควรกำหนดรูปแบบ ขนาด และความสูงเหนือระดับพื้นดินที่อนุญาตให้ติดตั้งป้ายและโครงป้าย เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสวยงาม และความปลอดภัย
1.4 ควรกำหนดระยะห่างระหว่างป้าย เพื่อป้องกันการติดตั้งป้ายทับซ้อน หรือการตั้งซ้อนเรียงหลายชั้น เพื่อลดความหนาแน่นของป้าย และป้องกันไม่ให้มีการติดตั้งป้ายรกรุงรัง ไม่เป็นระเบียบในเขตกรุงเทพมหานคร เขตเมือง รวมทั้ง ตามทางแยก และบริเวณเส้นทางคมนาคมสายหลักของประเทศ
1.5 ส่งเสริมให้ใช้สื่อประเภทอื่นในการโฆษณาแทนป้าย
2. กำกับ ดูแล และพัฒนาศักยภาพของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่
2.1 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำประมวลข้อปฏิบัติ ( Code of Practice ) ในการติดตาม ตรวจสอบความปลอดภัยของโครงป้าย และผลกระทบด้านมลทัศน์ของโครงป้าย ให้เป็นไปตามมาตรฐานของกฎหมายที่กำหนด
2.2 มีการจัดทำประมวลข้อปฏิบัติ ( Code of Practice ) ในการควบคุม ดูแลติดตาม และตรวจสอบป้าย และให้มีกรรมการพหุภาคี ซึ่งมีหน่วยงานเอกชน องค์กรชุมชน และประชาชนในพื้นที่ร่วมเป็นกรรมการ ในการติดตาม และตรวจสอบ
2.3 ให้มีการควบคุมภาพ หรือข้อความที่ใช้เป็นสื่อในป้าย ให้สอดคล้องและไม่ขัดกับกฎหมาย ความมั่นคง ศีลธรรม และวัฒนธรรมอันดีของประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาและผลกระทบต่อพฤติกรรมของคน ที่อาจทำให้มีแนวโน้มในทางก้าวร้าว และเกิดความรุนแรงได้
2.4 สร้างเสริมศักยภาพของเจ้าหน้าที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพอย่างเต็มที่
2.5 ส่งเสริมการสร้างสำนึก และจรรยาบรรณของผู้ที่เกี่ยวข้องกับป้าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรเอกชน
2.6 ส่งเสริม และสนับสนุนการปลูกฝังความรู้และค่านิยม เรื่องคุณค่าและคุณภาพ ของภูมิทัศน์ที่ดีให้แก่ประชาชนทั่วไป
2.7 ให้จัดทำและพัฒนาระบบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับป้าย เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไป และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
3. การบริหารจัดการ
3.1 ควรปรับปรุงบัญชีอัตราภาษีป้ายตามพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2534 และใช้ภาษีก้าวหน้า เพื่อเป็นเครื่องมือในการจัดระเบียบป้าย รวมทั้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพิจารณานำรายได้จากการจัดเก็บภาษีป้ายไปใช้ในการบริหารจัดการควบคุม ดูแล ติดตามและตรวจสอบป้ายในท้องถิ่นของตนเอง
3.2 สนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปรับปรุง แก้ไขกฎหมายที่ไม่เหมาะสม และสอดคล้องกับความเป็นจริงในปัจจุบัน รวมทั้ง สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ออกข้อบัญญัติที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม เพื่อให้การปฏิบัติงานได้ผลมากยิ่งขึ้น เช่น การกำหนดบทลงโทษ ค่าปรับ และเบี้ยปรับเพิ่มเติม
3.3 มีการวางระบบการติดตาม ตรวจสอบ การปฏิบัติงานของผู้ที่เกี่ยวข้องกับป้ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรเอกชน พร้อมทั้งกำหนดบทลงโทษผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างจริงจัง
3.4 กำหนดระยะเวลาเปิดและปิดการใช้กระแสไฟฟ้ากับป้ายทุกประเภท ให้สอดคล้องกับนโยบายประหยัดกระแสไฟฟ้า
3.5 กำหนดระยะเวลาการอนุญาตให้ตั้งป้ายที่เป็นมลทัศน์ที่มีอยู่ก่อนการนำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายมาใช้ภายใน พ.ศ. 2553
3.6 ผลักดันให้มีการนำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการจัดระเบียบป้ายไปสู่การปฏิบัติ โดยการจัดทำแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาป้าย ภายใน 6 เดือน
14. การแปลงข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการจัดระเบียบป้ายไปสู่การปฏิบัติ
1. การจัดทำแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาป้าย
การจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการจัดระเบียบป้าย เป็นเพียงกรอบแนวทางในการแก้ไขปัญหาป้าย ซึ่งการทำให้แนวทางดังกล่าวเกิดผลในทางปฏิบัตินั้น จำเป็นต้องมีการแปลงข้อเสนอแนะเชิงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ โดยการจัดทำ “ แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาป้าย ” ซึ่งมีหลักการสำคัญ ดังนี้
1) เป็นแผนปฏิบัติการเชิงบูรณาการ ที่ครอบคลุมการแก้ไขปัญหาทุกด้านอย่างเป็นองค์รวม มีการบูรณาการทั้งแผนงาน โครงการ แผนเงิน และแผนคน ของทุกหน่วยงานเข้าด้วยกัน
2) การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการจัดทำแผนปฏิบัติการฯ ในการจัดทำแผนปฏิบัติการฯ เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและท้องถิ่น รวมทั้งภาคเอกชน และภาคประชาชน ให้มีส่วนร่วมในการจัดทำแผนปฏิบัติการฯ โดยมีสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เป็นแกนกลางประสานในการจัดทำแผนปฏิบัติการฯ
3) องค์ประกอบที่สำคัญ แผนปฏิบัติการฯ ควรมีวัตถุประสงค์ เป้าหมาย รายละเอียดของแผนงาน โครงการ กิจกรรม ระยะเวลาดำเนินการ งบประมาณ หน่วยงานรับผิดชอบ และตัวชี้วัดผลผลิต/ผลลัพธ์ ที่ชัดเจน ทั้งนี้ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการเสนอของบประมาณสนับสนุนต่อไป
ขั้นตอนและวิธีการจัดทำแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาป้าย มีขั้นตอนดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 การตรวจสอบความเกี่ยวข้องระหว่างข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการจัดระเบียบป้ายกับภารกิจของหน่วยงาน
โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการจัดระเบียบป้าย มีความเกี่ยวข้องกับภารกิจของหน่วยงานในเรื่องใดบ้างซึ่งอาจเกี่ยวข้องมากกว่า 1 แนวทาง และให้แต่ละหน่วยงานพิจารณาว่าในแต่ละเรื่องหรือแต่ละภารกิจนั้น มีหน่วยงานใดบ้างที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจจะมีมากกว่า 1 หน่วยงาน ทั้งนี้ ครอบคลุมหน่วยงานนอกภาครัฐและภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าว จากนั้นแยกแยะบทบาทของแต่ละหน่วยงานให้ชัดเจนว่าเกี่ยวข้องมากน้อยเพียงใด และต้องมีการจัดทำแผนงาน โครงการ และกิจกรรมใดบ้าง
ขั้นตอนที่ 2 การจัดทำแผนงาน โครงการและกิจกรรม มีแนวทาง ดังนี้
1) ในการจัดทำแผนงาน โครงการ และกิจกรรม แต่ละข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการจัดระเบียบป้าย ต้องมีกลไกประสานงานในรูปของคณะกรรมการหรือคณะทำงานที่มีผู้แทนจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนจากภาคเอกชน และภาคประชาชน ซึ่งคณะกรรมการหรือคณะทำงานดังกล่าวควรทำหน้าที่ในการประสานงานเพื่อจัดทำแผนงาน โครงการและกิจกรรม รวมทั้ง ประสานงานในขั้นตอนการปฏิบัติงานของแต่ละหน่วยงานด้วย เพื่อให้มีการทำงานเป็นระบบ ลดความซ้ำซ้อนและเกิดความต่อเนื่อง
2) ในการจัดทำแผนงาน โครงการ และกิจกรรม แต่ละข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการจัดระเบียบป้าย ต้องยึดหลักการ พื้นที่ ภารกิจ และการมีส่วนร่วม ( AFP ) ซึ่งทุกฝ่ายจะร่วมกันพิจารณาเลือกพื้นที่เป้าหมายหรือกลุ่มเป้าหมาย โดยมีการกำหนดบทบาทของแต่ละหน่วยงานรับผิดชอบในส่วนใดและจะมีวิธีการบริหารจัดการและประสานงานร่วมกันในระหว่างดำเนินการอย่างไร หรือจะร่วมกันวิเคราะห์ถึงกลุ่มคนที่จะได้รับผลกระทบและผลประโยชน์จากการดำเนินการตามแผนงาน โครงการและกิจกรรมในพื้นที่ให้ชัดเจน ทั้งนี้ ควรนำข้อเสนอโครงการที่สำคัญมาประกอบในการจัดทำแผนงาน โครงการ และกิจกรรมตามข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการจัดระเบียบป้าย ตลอดจนการทำแผนงาน โครงการและกิจกรรมใหม่ๆ เพิ่มเติม เพื่อให้มีแผนงาน โครงการ และกิจกรรมรองรับการแก้ไขปัญหาป้ายในทุกๆ ด้าน
3) คณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานฯ ร่วมกันพิจารณาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการจัดระเบียบป้าย โครงการเพื่อวัดผลสำเร็จและผลกระทบของแผนงานโครงการ
2. การนำเสนอแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาป้าย
เมื่อมีการจัดทำแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาป้ายแล้วเสร็จให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำเสนอแผนปฏิบัติการฯ ต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
สำหรับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับป้าย รวมทั้ง กิจกรรมเกี่ยวกับการปรับปรุงการบริหารจัดการของหน่วยงาน ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณ หน่วยงานต่างๆ ร่วมกันจัดทำข้อเสนอผ่านขั้นตอนต่างๆ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติได้โดยไม่ต้องมีขั้นตอนจัดสรรงบประมาณ
3. การนำแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาป้ายไปสู่การปฏิบัติ
การนำแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาป้าย ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณไปสู่การปฏิบัตินั้น จะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ โดยทุกจังหวัด ต้องนำแผนงานและโครงการ ภายใต้แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาป้ายโฆษณาไปบรรจุไว้ในแผนปฏิบัติการพัฒนาจังหวัดด้วย ซึ่งจะได้นำไปสู่การจัดทำแผนปฏิบัติการประจำปีของจังหวัด และนำไปสู่การปฏิบัติต่อไป
ซึ่งการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาป้าย มีกระบวนการ และขั้นตอนที่สำคัญ ดังนี้
1) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการจัดระเบียบป้าย และแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาป้าย พร้อมด้วยรายละเอียดแผนงาน โครงการ และกิจกรรมที่ได้รับจัดสรรงบประมาณ ซึ่งจะต้องดำเนินการในแต่ละจังหวัด เพื่อใช้ประกอบในการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด
2) คณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ หรือ กบจ. ของทุกจังหวัด จะมีบทบาทสำคัญในการจัดทำยุทธศาสตร์จังหวัด พิจารณาเรื่องการแก้ไขปัญหาป้าย ให้เป็นยุทธศาสตร์หนึ่งภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด
3) คณะกรรมการบริหารจังหวัดแบบบูรณาการ หรือ กบจ. ของทุกจังหวัด พิจารณานำเอาแผนงาน โครงการ และกิจกรรมภายใต้แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาป้าย มาบูรณาการกับแผนงาน โครงการ และกิจกรรมของยุทธศาสตร์อื่นๆ ในการจัดทำแผนงานปฏิบัติการของจังหวัดภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่ต่อไป
* โดย คณะอนุกรรมการจัดการสิ่งแวดล้อมด้านมลทัศน์ ภายใต้ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ